แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระศาสนจักรในเอเซีย : อดีตและปัจจุบัน
9. ประวัติของพระศาสนจักรในเอเซียนั้น ยาวนานเท่ากับพระศาสนจักรเอง เหตุว่าในดินแดนเอเซียนี้เอง ที่พระเยซูเจ้าทรงประทานพระจิตเจ้าให้เสด็จมาเหนือบรรดาสาวกของพระองค์ และทรงส่งพวกเขาให้ไปประกาศข่าวดี และรวบรวมบรรดากลุ่มผู้มีความเชื่อ ซึ่งแผ่ขยายไปจนสุดปลายแผ่นดิน   “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน.20:21 ดู มธ.28:18-20, มก.16:15-18, ลก.24:27 และ กจ.1:8)  บรรดาอัครสาวกปฏิบัติตามพระบัญชาของพระอาจารย์เจ้า พวกท่านจงไปเทศนาพระวาจา และเริ่มต้นจัดตั้งพระศาสนจักร คงจะมีประโยชน์มาก หากเรารำลึกถึงเหตุการณ์บางอย่างในประวัติศาสตร์อันน่าประทับใจ และหลากหลายเหล่านี้

    พระศาสนจักรแผ่ขยายจากเยรูซาเล็มไปยังอันติโอก ไปถึงโรม และต่อไปยังประเทศอื่นๆ จนไปถึงเอธิโอเปียในภาคใต้ ซินเธียในภาคเหนือ และอินเดียในภาคตะวันออก ณ ที่นั้น มีเรื่องเล่าว่า นักบุญโทมัส อัครสาวกได้เดินทางไปที่นั่น ในปี ค.ศ. 52 และได้ตั้งพระศาสนจักรในภาคใต้ของอินเดีย จิตตารมณ์ธรรมทูตของคริสตชนในภาคตะวันออกของซีเรีย ในศตวรรษที่สามและสี่นั้นเป็นที่น่าประทับใจมาก คริสตชนที่มีชีวิตจิตสูงของซีเรีย นับเป็นพลังสำคัญในการประกาศพระวรสารในเอเซีย ตั้งแต่ศตวรรษที่สามเป็นต้นมา พวกเขามอบพลังจิตให้แก่พระศาสนจักร โดยเฉพาะในยามที่ถูกเบียดเบียน เมื่อสิ้นศตวรรษที่สาม อาร์เมเนียเป็นประเทศแรกที่ต้อนรับคริสตศาสนาทั้งประเทศ และปัจจุบันกำลังเตรียมเฉลิมฉลอง 1700 ปี แห่งการรับศีลล้างบาปของพวกเขา  เมื่อถึงปลายศตวรรษที่ห้า  คำสอนของคริสตศาสนาได้เข้าไปถึงดินแดนอาหรับ แต่เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ รวมทั้งความแตกแยกระหว่างคริสตชน คำสอนนี้จึงมิได้หยั่งรากลงในจิตใจของประชาชนเหล่านี้
    พ่อค้าชาวเปอร์เซียนำข่าวดีไปยังประเทศจีนในศตวรรษที่ห้า วัดแรกของคริสตศาสนาได้ก่อสร้างขึ้น เมื่อต้นศตวรรษที่เจ็ด ในช่วงที่ราชวงศ์ถังเรืองอำนาจ (ค.ศ. 618-907) พระศาสนจักรเจริญเติบโตเป็นเวลาร่วมสองศตวรรษ การถดถอยของพระศาสนจักรในประเทศจีนที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวาและแข็งขันนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าเศร้าที่สุดช่วงหนึ่งของประชากรของพระเจ้าในทวีปนี้
ในศตวรรษที่สิบสามมีการประกาศข่าวดีแก่ชาวมองโกล ชาวเตอร์ก และชาวจีนอีกครั้งหนึ่ง แต่คริสตศาสนาเกือบจะสูญหายไปจากดินแดนแถบนี้ เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ ในบรรดาเหตุผลเหล่านี้ก็คือการเติบโตของศาสนาอิสลาม เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่ค่อนข้างโดดเดี่ยว ไม่มีการปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่เหนือสิ่งอื่นใด อาจเป็นเพราะการขาดความพร้อมที่จะเผชิญกับศาสนาที่ยิ่งใหญ่ในเอเซีย ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบสี่ จะเห็นว่า พระศาสนจักรในเอเซียมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมาก เว้นแต่กลุ่มคริสตชนที่โดดเดี่ยวอยู่ในตอนใต้ของอินเดีย พระศาสนจักรในเอเซีย ต้องรอเวลาของการแพร่ธรรมครั้งใหม่
ผลงานธรรมทูตของนักบุญฟรันซิส เซเวียร์ การก่อตั้งกระทรวงแพร่ธรรมของพระสันตะปาปา เกรโกรี ที่ 8 และการวางกฎเกณฑ์ให้ธรรมทูตเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น ล้วนเป็นเหตุให้มีผลในทางบวกมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่สิบหกและสิบเจ็ด ในศตวรรษที่สิบเก้าก็มีการฟื้นฟูกิจกรรมธรรมทูต คณะนักบวชหลายคณะอุทิศตนเพื่องานนี้อย่างเต็มที่ กระทรวงแพร่ธรรมได้รับการปรับปรุงใหม่ มีการเน้นเรื่องการเสริมสร้างพระศาสนจักรท้องถิ่นมากขึ้น
การศึกษาและงานเมตตาสงเคราะห์ได้ทำไปพร้อมๆ กับการ   ประกาศพระวรสาร  ผลที่ตามมาก็คือข่าวดีได้ไปถึงคนจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งถึงกลุ่มคนจนและผู้ด้อยโอกาส บางแห่งยังเข้าถึงปัญญาชนและผู้มีอิทธิพลในสังคม มีความพยายามใหม่ที่จะปรับข่าวดีให้เข้ากับวัฒนธรรมแม้ว่าจะยังไม่เพียงพอก็ตาม แม้พระศาสนจักรจะได้อยู่ในเอเซียมาเป็นเวลานาน และมีกิจกรรมมากมาย แต่ในหลายประเทศ พระศาสนจักรยังถูกมองว่าเป็นของต่างด้าวในเอเซีย และบ่อยครั้งประชาชนมักจะคิดว่ามีความเกี่ยวพันกับอำนาจที่มาล่าอาณานิคม
นี่คือสภาพความเป็นจริงก่อนสภาพระสังคายนาวาติกันที่สอง แต่ขอบคุณที่สภาสังคายนาฯ ได้กระตุ้นให้เกิดความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับพันธ-กิจซึ่งควบคู่ไปกับความหวังอันยิ่งใหญ่ แผนความรอดอันครอบจักรวาลของพระเป็นเจ้า สภาพความเป็นธรรมทูตของพระศาสนจักร และภาระหน้าที่ของสมาชิกทุกคนของพระศาสนจักรในการแพร่ธรรม ได้รับการเน้นเป็นพิเศษในเอกสาร ที่เกี่ยวกับการแพร่ธรรมของพระศาสนจักร คือ “สู่นานาชาติ” (Ad Gentes) เอกสารนี้เป็นกรอบความรับผิดชอบใหม่ของพระศาสนจักร ในระหว่างการประชุมสมัชชาพิเศษครั้งนี้ บรรดาสมาชิกต่างก็เป็นสักขีพยานถึงการเติบโตของพระศาสนจักร ในกลุ่มชนต่างๆ ทั่วทวีป พวกท่านยังได้ขอให้มีการแพร่ธรรมมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะโอกาสใหม่ที่จะประกาศพระวรสารในแถบไซบีเรีย  และประเทศในแถบเอเซียกลาง ซึ่งเพิ่งได้รับเอกราช เช่น คาซักสถาน  อูสเบคิสถาน   เคอริกสถาน ทาจีคิสขาน และเทอร์กเมนิสถาน
ในการสำรวจกลุ่มคาทอลิกในเอเซีย เราได้พบว่ามีความแตกต่างที่น่าชื่นชมมากมาย เนื่องมาจากต้นกำเนิดและการพัฒนาทางด้านประวัติ-ศาสตร์ของพวกเขา และธรรมเนียมประเพณีด้านชีวิตจิตและจารีตพิธีกรรมต่างๆ แต่ทุกคนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในการประกาศ ข่าวดีของพระเยซูคริสตเจ้า อาศัยการเป็นสักขีพยานเยี่ยงคริสตชน กิจเมตตาต่างๆ และความเป็นหนึ่งเดียวกันฉันเพื่อนมนุษย์   ในขณะที่พระศาสนจักรบางแห่งดำเนินกิจการได้ในสันติ และอย่างมีเสรีภาพ แต่บางแห่งก็ยังต้องเผชิญกับความรุนแรงและการเผชิญหน้ากัน หรือมีความรู้สึกว่ากลุ่มอื่นกำลังคุกคามพวกเขา ด้วยเหตุผลทางด้านศาสนาหรือด้วยเหตุอื่นๆ ในโลกแห่งความแตกต่างมากมายทางด้านวัฒนธรรมในเอเซีย พระศาสนจักรต้องเผชิญกับการท้าทายหลายด้าน ทั้งในด้านปรัชญา เทววิทยา และการอภิบาล ภารกิจต่างๆ เหล่านี้ยิ่งลำบากมากขึ้น เนื่องจากพระ-ศาสนจักรเป็นชนกลุ่มน้อย เว้นแต่ในประเทศฟิลิปปินส์เพียงแห่งเดียว ที่พลเมืองส่วนใหญ่เป็นคาทอลิก
แต่ไม่ว่าในกรณีใด พระศาสนจักรในเอเซียก็ยังอยู่ในท่ามกลางประชาชนที่แสดงออกซึ่งการแสวงหาพระเป็นเจ้า พระศาสนจักรทราบว่าการแสวงหานี้ จะได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ ก็เพียงในองค์พระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นข่าวดีของพระเป็นเจ้าสำหรับชนทุกชาติเท่านั้น บรรดาสมาชิกของสมัชชาปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง ที่จะให้สมณสาสน์หลังการประชุมสมัชชาครั้งนี้ ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการแสวงหานี้ และสนับสนุนให้พระศาสนจักรในเอเซีย ประกาศอย่างแข็งขัน ทั้งด้วยวาจาและกิจการว่าพระเยซูคริสตเจ้าคือองค์พระผู้ไถ่
พระจิตของพระเป็นเจ้า ผู้ประทับอยู่ในประวัติศาสตร์ของเอเซีย พระองค์ยังทรงนำทางพวกเขาอยู่ สิ่งที่ดีงามด้านบวกที่พบได้ในพระ-ศาสนจักรท้องถิ่น ที่ได้รับการเน้นในการประชุมสมัชชา ทำให้เรามีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นว่า “รุ่งอรุณใหม่แห่งชีวิตคริสตชนกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว” เหตุผลหลักแห่งความหวังนี้ก็คือ จำนวนฆราวาสที่ได้รับการอบรมอย่างดี มีความร้อนรนและเปี่ยมด้วยพระจิตเจ้า มีจำนวนเพิ่มขึ้น พวกเขาสำนึกถึงกระแสเรียกพิเศษของเขาในสังคมของแต่ละวัดมากยิ่งขึ้น ในจำนวนนี้ เราขอกล่าวถึงและชมเชยบรรดาครูคำสอนฆราวาสเป็นพิเศษ ขบวนการแพร่ธรรมและกลุ่มพรพิเศษต่างๆ นับว่าเป็นพระพรของพระจิตเจ้า ที่นำชีวิตใหม่และความร้อนรน มาสู่การอบรมฆราวาสชายและหญิง ครอบครัว และเยาวชน สมาคมและขบวนการของพระศาสนจักร ที่อุทิศตนในการเผยแพร่ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และความยุติธรรม ทำให้คำสอนแห่งพระ- วรสารที่ว่า เราเป็นบุตรบุญธรรมของพระเป็นเจ้า (ดู รม.8:15-16) เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเอื้อมถึงได้
แต่ในขณะเดียวกันยังมีพระศาสนจักรที่อยู่ในสภาพที่ลำบากมาก “ที่กำลังประสบกับความยากลำบากในการปฏิบัติตามความเชื่อของพวกเขา” บรรดาสมาชิกของสมัชชาได้รับความประทับใจมาก เมื่อได้ยินการรายงานถึงการเป็นสักขีพยานที่กล้าหาญ ความซื่อสัตย์ที่ไม่หวั่นไหว ตลอดจนการเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศจีน และความเพียรพยายามของพระศาสนจักรในเกาหลีใต้ ที่จะช่วยประชากรในเกาหลีเหนือ พระศาสนจักรคาทอลิกที่ถ่อมตนแต่มั่นคงในประเทศเวียตนาม การถูกตัดขาดให้อยู่โดดเดี่ยวของคริสตชนในประเทศลาวและพม่า อีกทั้งความยากลำบากในการเจริญชีวิตในประเทศที่ประชาชนส่วนมากเป็นอิสลามิกชน การประชุมสมัชชาได้ให้ความสนใจพิเศษถึงสถานภาพของพระศาสนจักรในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ และในเยรูซาเล็มนครศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งนับเป็น “หัวใจของคริสตศาสนา” เมืองซึ่งเป็นที่รักใคร่ของบรรดาลูกหลานของอับราฮัม สมาชิกสมัชชาแสดงความเชื่อมั่นว่า สันติภาพในดินแดนแถบนั้น และแม้กระทั่งในโลก ขึ้นอยู่ไม่ใช่น้อยกับสันติภาพและการคืนดีกัน ซึ่งเยรูซาเล็มไม่ได้ประสบพบเห็นมาเป็นเวลาช้านาน
ข้าพเจ้าไม่สามารถจะจบการสำรวจสถานภาพของพระศาสนจักรในเอเซียได้ โดยมิได้กล่าวถึงบรรดานักบุญและมรณสักขีของเอเซีย ทั้งผู้ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ หรือบรรดาผู้ที่พระเป็นเจ้าเท่านั้นทรงทราบดี ตัวอย่างของท่านเหล่านี้เป็นท่อธารแห่ง “ความร่ำรวยฝ่ายจิตวิญญาณ และเป็นหนทางแห่งการเผยแพร่พระวรสารที่สำคัญยิ่ง” พวกท่านกล่าวอย่างเงียบๆ แต่อย่างมีพลัง ถึงความสลักสำคัญของชีวิตศักดิ์สิทธิ์ และความพร้อมที่จะมอบชีวิตของท่านเพื่อเห็นแก่พระวรสาร พวกท่านคือครูและผู้ปกป้อง ท่านเป็นความรุ่งเรืองของพระศาสนจักรในเอเซีย ในพันธกิจการประกาศพระวรสาร ข้าพเจ้าขอร่วมกับพระ-ศาสนจักรทั้งหมด วอนขอพระเป็นเจ้า ได้ทรงส่งคนงานจำนวนมากขึ้น ผู้อุทิศตนจริงๆ ให้มาเก็บเกี่ยวด้านจิตวิญญาณ  ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าสรรพพร้อมแล้วและมีจำนวนมาก (ดู มธ.9:37-38) บัดนี้ ข้าพเจ้าหวนระลึกถึงสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เขียนไว้ในสมณสาสน์ “พระพันธกิจขององค์พระผู้ไถ่” ว่า “พระเป็นเจ้าทรงเปิดจิตใจมนุษย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีความพร้อมมากขึ้น สำหรับการหว่านพระวรสาร”  ข้าพเจ้าเห็นว่า วิสัยทัศน์และสภาพอันเอื้ออำนวยนี้ กำลังเป็นจริงขึ้นในเอเซีย อันเป็นสถานที่ที่พระเยซูเจ้าได้ทรงบังเกิด และคริสตศาสนาได้เริ่มต้น