แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

เรื่องที่สำคัญในการปรับให้เข้ากับวัฒนธรรม
22. สมัชชาได้ให้กำลังใจแก่นักเทววิทยา ในบทบาทที่ละเอียดอ่อนของการแสวงหาเทววิทยาที่ปรับให้เข้ากับวัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่อง “คริสตศาสตร์” ผู้ร่วมในการประชุมสมัชชากล่าวว่า “การอธิบายโดยใช้เทววิทยานี้ ควรดำเนินไปด้วยความกล้าหาญ โดยซื่อสัตย์ต่อพระคัมภีร์ และคำสอนที่สอนสืบเนื่องต่อกันมาของพระศาสนจักร โดยสำนึกถึงความเป็นจริงของการอภิบาล” ข้าพเจ้าเองก็ใคร่จะขอร้องบรรดานักเทววิทยา ให้ทำงานด้วยจิตตารมณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันกับบรรดานายชุมพา-บาลและประชาชน เพราะเมื่อทุกคนร่วมมือกันมิใช่แตกแยกกัน ก็ย่อมสะท้อนถึง “ทิศทางแห่งความเชื่อ” อันถูกต้อง ซึ่งสิ่งนี้เราจะหลงลืมเสียมิได้ การดำเนินงานในด้านเทววิทยานั้น จะต้องแสดงออกซึ่งความเคารพต่อความรู้สึกของคริสตชน เพื่อการค่อยๆ เติบโตในการแสดงออกซึ่งความเชื่อ ในรูปแบบที่ปรับให้เข้ากับวัฒนธรรม จะไม่เป็นเหตุให้ประชาชนสับสน หรือเป็นที่สะดุดแก่พวกเขา การปรับความเชื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมนั้น จะต้องสอดคล้องกับพระวรสาร และความเป็นหนึ่งเดียวกับความเชื่อของพระศาสนจักรสากล ทั้งยังต้องสอดคล้องกับคำสอนที่มีมาอย่างต่อเนื่องของพระศาสนจักร โดยมีจิตมุ่งหมายที่จะช่วยให้ความเชื่อของประชาชนมั่นคงขึ้น การทดสอบว่าการปรับความเชื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมนั้นถูกต้องหรือไม่ ก็ให้ดูว่าประชาชนอุทิศตนเพื่อความเชื่อมากขึ้นหรือไม่ เนื่องจากเขาสามารถเข้าใจความเชื่อได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  อาศัยมุมมองแห่งวัฒนธรรมของพวกเขา
    พิธีกรรม คือแหล่งที่มาและจุดสูงสุดของชีวิตและพันธกิจของคริสตชน เป็นหนทางที่สำคัญในการแพร่ธรรม โดยเฉพาะในเอเซีย เหตุว่าศาสนิกชนในศาสนาต่างๆ ให้ความสนใจกับการนมัสการ เทศกาลฉลองทางศาสนาและความศรัทธาซึ่งเป็นที่นิยมของชาวบ้าน พิธีกรรมของจารีตตะวันออกได้รับการปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมได้เป็นผลสำเร็จ โดยผ่านการสัมผัสกับวัฒนธรรมรอบด้านมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ แต่พระศาสนจักรที่เพิ่งเริ่มต้น  ต้องให้ความมั่นใจว่า พิธีกรรมเป็นแหล่งที่มาแห่งการหล่อเลี้ยงประชาชนด้วยการใช้สิ่งที่มาจากวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพ แต่การปรับพิธีกรรมให้เข้ากับวัฒนธรรมนั้น จำต้องมีอะไรที่มากไปกว่าเพียงการนำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่น สัญลักษณ์และจารีตต่างๆ มาใช้เท่านั้น แต่จะต้องมีการพิจารณาถึงความรู้สึกนึกคิดที่เปลี่ยนแปลงไป อันสืบเนื่องมาจากความนิยมทางโลกมากกว่าทางธรรม และวัฒนธรรมบริโภคนิยม ที่กำลังคุกคามความนิยมชมชอบการนมัสการและภาวนาของเอเซีย และเราจะมองข้ามความต้องการของคนยากจน ผู้ย้ายถิ่นฐาน ผู้ลี้ภัย เยาวชนและสตรีไปไม่ได้ ในการปรับพิธีกรรมให้เข้ากับวัฒนธรรมในเอเซีย
    สภาพระสังฆราชของแต่ละประเทศ และแต่ละเขตจำต้องทำงานร่วมกับสมณกระทรวงว่าด้วยการนมัสการ และระเบียบวินัยเกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์ ในการเสาะแสวงหาหนทาง อันมีประสิทธิภาพในการหล่อเลี้ยงรูปแบบที่เหมาะสมเกี่ยวกับนมัสการบูชาในบริบทของเอเซีย การร่วมมือด้วยกันนี้สำคัญมาก เหตุว่าพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ แสดงออกและเฉลิมฉลองความเชื่อหนึ่งเดียว ซึ่งทุกคนยอมรับ และเป็นมรดกของพระศาสนจักรโดยส่วนร่วมนั้น ไม่สามารถจะได้รับการตัดสินจากพระศาสนจักรท้องถิ่นเพียงลำพัง โดยไม่คำนึงถึงพระศาสนจักรสากล
    บรรดาผู้ร่วมประชุมสมัชชา เน้นเป็นพิเศษถึงความสำคัญของพระ-วาจาในพระคัมภีร์ ในอันที่จะถ่ายทอดสาสน์แห่งความรอดให้แก่ประชาชนชาวเอเซีย เหตุว่าในเอเซียคำพูดต่อๆ กันไปนั้น มีความสำคัญมากในอันที่สื่อประสบการณ์ทางด้านศาสนา ดังนั้นจึงควรจัดให้มีระบบการแพร่ธรรมโดยอาศัยพระคัมภีร์ เพื่อให้แน่ใจว่าพระวาจาได้รับการเผยแพร่ และสมาชิกของพระศาสนจักรในเอเซียได้ใช้มากขึ้น และใช้ด้วยการรำพึงภาวนา ผู้ร่วมประชุมสมัชชาขอร้องให้เรื่องนี้ เป็นพื้นฐานในแพร่ธรรม การสอนคำสอน การเทศน์ และระบบชีวิตจิต ความพยายามที่จะแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาท้องถิ่น ต้องได้รับการสนับสนุนจุนเจือ การอบรมในด้านพระคัมภีร์ ถือว่าเป็นหนทางที่สำคัญในอันที่จะให้การอบรมประชาชนในเรื่องความเชื่อ และเป็นการช่วยให้เขามีความพร้อมในการประกาศพระวรสาร การสอนพระคัมภีร์โดยมุ่งไปสู่การอภิบาล โดยเน้นถึงการนำคำสอนนี้ไปประยุกต์ใช้กับสภาพความเป็นจริงอันหลากหลายของเอเซีย ควรบรรจุเข้าในโปรแกรมการอบรมบรรดาพระสงฆ์ นักบวช และฆราวาส ควรให้ผู้นับถือศาสนาอื่น ได้รับความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์   พระวาจาของพระเป็นเจ้ามีพลังในอันที่จะจูงใจประชาชน เหตุว่าอาศัยพระคัมภีร์ พระจิตเจ้าทรงเผยแผนความรอดให้โลกได้รับรู้ นอกจากนั้น วิธีลีลาการบันทึกเหตุการณ์ซึ่งจะพบได้ในพระคัมภีร์หลายตอน คล้ายคลึงกับตำราสอนศาสนาแบบเอเซีย
    อีกมุมมองหนึ่งของการปรับความเชื่อให้เข้ากับวัฒนธรรม ซึ่งจำต้องนำมาใช้ในอนาคตก็คือ การอบรมผู้ประกาศพระวรสาร ในอดีตการอบรมมักจะใช้ระบบ วิธีการและหลักสูตซึ่งนำเข้ามาจากตะวันตก แม้ว่าสมาชิกของสมัชชาจะชมชอบในวิธีการอบรมแบบนี้ แต่พวกท่านก็เห็นว่าการพัฒนาในทางบวก ที่นำมาใช้ในการอบรมผู้แพร่ธรรมในช่วงหลังนี้ ให้เข้ากับบริบทวัฒนธรรมของเอเซียนั้นมีมากขึ้น  ควบคู่ไปกับรากฐานอันมั่นคงในการศึกษาพระคัมภีร์และบรรดาปิตาจารย์ บรรดาสามเณรก็ควรเรียนรู้ถึงมรดกทางด้านเทววิทยา และปรัชญาของพระศาสนจักร ดังที่ข้าพเจ้าได้ขอร้องไว้ในสมณสาสน์ “ความเชื่อและเหตุผล” จากพื้นฐานการเตรียมตัวดังกล่าวนี้ พวกเขาก็จะได้รับผลประโยชน์จากการสัมผัสกับขนบธรรมเนียมทางด้านปรัชญา และศาสนาเก่าแก่ของเอเซีย บรรดาผู้ร่วมประชุมสมัชชาเน้นให้อาจารย์บ้านเณรพยายามเข้าใจ ชีวิตจิตและการอธิษฐานภาวนาที่ใกล้ชิดกับจิตวิญญาณของชาวเอเซีย และให้บรรดาอาจารย์เหล่านี้ หันมาสนใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เกี่ยวกับการแสวงหาชีวิตที่ครบบริบูรณ์มากขึ้นของชาวเอเซีย เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายนี้ จะต้องมีการเน้นว่าจะต้องมีการอบรมอาจารย์ของบ้านเณรอย่างเหมาะสมในเรื่องนี้ สมัชชายังแสดงความห่วงใยเรื่องการอบรมนักบวชชายและหญิง โดยกล่าวอย่างชัดเจนว่า ชีวิตจิตและวิถีชีวิตของผู้ที่ถวายตัวแด่พระเป็นเจ้า ต้องคำนึงถึงมรดกทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมของประชาชนที่เขาใช้ชีวิตร่วมอยู่ด้วย และผู้ที่เขารับใช้โดยแยกแยะให้ถูกต้องว่าสิ่งใดที่สอด-คล้องหรือไม่กับพระวรสาร นอกจากนั้น ในเมื่อการปรับพระวรสารให้เข้ากับวัฒนธรรม เป็นเรื่องของประชากรทั้งครบของพระเป็นเจ้า บทบาทของฆราวาสในเรื่องนี้นับว่าสำคัญมาก ฆราวาสนี่แหละคือผู้ที่ได้รับเรียกให้เปลี่ยนแปลงสังคม ร่วมกับพระสังฆราช พระสงฆ์ และนักบวช โดยใส่ “จิตใจของพระคริสตเจ้า” เข้าไปในความนึกคิด ประเพณี กฎหมาย และโครงสร้างของโลกที่เขาอาศัยอยู่ การปรับพระวรสารให้เข้ากับวัฒนธรรมในทุกระดับสังคมในเอเซีย ย่อมขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการให้การอบรมฆราวาส โดยพระศาสนจักรท้องถิ่นเป็นส่วนมาก