บทที่ 5
ความเป็นหนึ่งเดียวและการเสวนาเพื่อพันธกิจ

 

ความเป็นหนึ่งเดียวและพันธกิจย่อมควบคู่กันไป
24.    ตามแผนการณ์นิรันดรของพระบิดาเจ้า พระศาสนจักรซึ่งได้รับการทำนายไว้ล่วงหน้าตั้งแต่สร้างโลก และได้รับการจัดเตรียมไว้ในพันธสัญญาเดิมนั้น ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยพระคริสตเยซู และพระจิตเจ้าได้ทรงบันดาลให้ปรากฏแก่ชาวโลก ในวันที่พระจิตเจ้าเสด็จมาจาริกอยู่ท่ามกลางการเบียดเบียนของโลกนี้และได้รับการปลอบโยนจากพระเป็นเจ้า “ในขณะที่พระศาสนจักรดิ้นรนเพื่อบรรลุถึงความดีครบบริบูรณ์ในความรุ่งเรืองแห่งสวรรค์  ในเมื่อพระเป็นเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้มนุษยชาติทั้งมวลซึ่งเป็นประชากรของพระเป็นเจ้ารวมเป็นกายเดียวกันของพระ- คริสตเจ้า และได้รับการเสริมสร้างให้เป็นพระวิหารหนึ่งเดียวของพระจิตเจ้า” พระศาสนจักรเป็นแผนการณ์ความรักซึ่งมองเห็นได้แห่งความรักที่พระเป็นเจ้าทรงมีต่อมนุษยชาติ และเป็นเครื่องหมายแห่งความรอดในโลก ดังนั้นพระศาสนจักรจึงมิใช่เพียงองค์กรด้านสังคมหรือหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ของมนุษย์ แม้พระศาสนจักรจะมีชายหญิงซึ่งเป็นคนบาปปะปนอยู่ด้วย แต่พระศาสนจักรก็ยังเป็นแหล่งซึ่งมีการพบปะกันระหว่างพระเป็นเจ้ากับมนุษย์  โดยที่พระเป็นเจ้าทรงพอพระทัยที่จะเผยแสดงรหัสธรรมความลึกลับแห่งชีวิตภายในของพระองค์ให้แก่มนุษย์ และบันดาลให้แผนการแห่งความรอดของโลกดำเนินต่อไปได้
    แผนการณ์อันลึกลับแห่งความรักของพระเป็นเจ้าปรากฏและดำรงอยู่ในท่ามกลางชายหญิงผู้ได้ถูกฝังร่วมกับพระคริสตเจ้าด้วยการตายในศีลล้างบาป เพื่อว่าพระคริสตเจ้าทรงได้กลับคืนพระชนมชีพด้วยเดชะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาเจ้าฉันใด  พวกเขาก็จะได้ดำเนินชีวิตแบบใหม่ด้วยฉันนั้น (ดู รม.6:4) หัวใจแห่งรหัสธรรมของพระศาสนจักรก็คือสายสัมพันธ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน   ซึ่งเชื่อมโยงพระคริสตเจ้าผู้เปรียบเสมือนองค์เจ้าบ่าวกับมนุษย์ทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาป อาศัยการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์อันบันดาลชีวิตนี้ “คริสตชนจึงมิได้เป็นเจ้าของตัวเองอีกต่อไป แต่พวกเขาเป็นของพระคริสตเจ้าพระองค์เอง” ด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกับพระบุตรในสายสัมพันธ์แห่งความรักของพระจิตเจ้า คริสตชนจึงเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดา และจากความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้  คริสตชนจึงเป็นหนึ่งเดียวกันอาศัยพระคริสตเจ้าในองค์พระจิตเจ้า  จุดมุ่งหมายประการแรกของพระศาสนจักรก็คือ  การเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษย์กับพระเป็นเจ้า  เหตุว่าความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษย์ มีรากฐานอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวของพระเป็นเจ้า  พระศาสนจักรจึงเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษยชาติ  ความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้  เริ่มต้นแล้วในพระศาสนจักร  และในขณะเดียวกันพระศาสนจักรก็ยังเป็น  “เครื่องหมายและเครื่องมือ”  ที่จะให้ความเป็นหนึ่งเดียวกันที่จะมาถึงนี้ได้เป็นจริงขึ้นมา
ข้อเรียกร้องที่สำคัญแห่งชีวิตในพระคริสตเจ้าก็คือ  ผู้ใดก็แล้วแต่ที่จะเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ จะต้องบังเกิดผล  “ผู้ที่ดำรงอยู่ในเรา  และเราดำรงอยู่ในเขาก็ย่อมเกิดผลมาก” (ยน.15:5) เรื่องนี้เป็นความจริงจน กระทั่งผู้ที่ไม่บังเกิดผลไม่สามารถเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ได้ “กิ่งก้านใดในเราที่ไม่เกิดผล (พระบิดาของเรา) ก็จะทรงตัดทิ้งเสีย” (ยน.15:2) ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้า ซึ่งก่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวในระหว่างคริสตชนด้วยกันนั้น นับเป็นเงื่อนไขที่จะขาดเสียมิได้ในการบังเกิดผล และการเป็นหนึ่งเดียวกับผู้อื่น  ซึ่งก็เป็นพระพรของพระคริสตเจ้าและพระจิตของพระองค์ นับเป็นผลอันดีเลิศที่กิ่งก้านสามารถผลิตได้  เมื่อเข้าใจดังนี้ ความเป็นหนึ่งเดียวกันและพันธกิจนั้นเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกันจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ทั้งสองนี้ผสมผสานกันและเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด จนกระทั่ง “ความเป็นหนึ่งเดียวกันย่อมบ่งให้เห็นแหล่งที่มา และผลของพันธกิจความเป็นหนึ่งเดียวกันอันก่อให้เกิดพันธกิจ และพันธ-กิจจะสำเร็จได้ก็ในความเป็นหนึ่งเดียวกัน”
    สภาพระสังคายนาวาติกันที่ 2 ใช้เทววิทยาเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวกันอธิบายพระศาสนจักรว่า เป็นประชากรของพระเป็นเจ้า ที่กำลังจาริกอยู่และประชาชนทุกคนต้องเกี่ยวโยงกันด้วยโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง จากพื้นฐานนี้เอง ที่บรรดาผู้ร่วมประชุมสมัชชาจึงได้เน้นความสัมพันธ์อันลึกลับระหว่างพระศาสนจักรกับบรรดาผู้นับถือศาสนาอื่นในเอเซียโดยให้ข้อสังเกตว่า “มีความเกี่ยวพันธ์กับพระศาสนจักรในขั้นตอนและรูปแบบที่แตกต่างกัน” ในท่ามกลางประชาชน วัฒนธรรมและศาสนาที่หลากหลาย “ชีวิตของพระศาสนจักรที่เป็นหนึ่งเดียวกันนี้ ย่อมมีความสำคัญเป็นอันมาก” ในภาคปฏิบัติบริการแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระศาสนจักรนี้ย่อมมีความสำคัญที่ตรงประเด็นมากในเอเซีย เนื่องจากความตรึงเครียด ความแตกแยก และการต่อสู้กันอันเนื่องมาจากความแตกต่างในด้านสังคม วัฒนธรรม ภาษา เศรษฐกิจและศาสนาอันมากมาย จากบริบทนี้เอง พระศาสนจักรท้องถิ่นในเอเซียจึงต้องหล่อเลี้ยงความเป็นหนึ่งเดียวกัน ในด้านความคิดและจิตใจให้มากขึ้น ด้วยความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดโดยร่วมกับผู้สืบตำแหน่งนักบุญเปโตร สิ่งที่มีความสำคัญยิ่งยวดต่อพันธ-กิจการแพร่ธรรมก็คือ ความสัมพันธ์กับคริสตชนนิกายอื่น และกลุ่มคริสตจักรต่างๆ และกับบรรดาผู้นับถือศาสนาอื่น  ดังนั้น  ที่ประชุมสมัชชาจึงได้รื้อฟื้นการอุทิศตนของพระศาสนจักรในเอเซียในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับคริสตจักรอื่น และการเสวนากับศาสนาอื่นให้มากยิ่งขึ้น  โดยสำนึกว่า  การเสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน  ความพยายามให้มีการคืนดีกัน  การมุ่งหน้าสู่ความเป็นปึกแผ่น  พยายามให้มีการเสวนากับศาสนา และวัฒนธรรมต่างๆ การถอนรากถอนโคน การเป็นอริต่อกัน  และก่อให้เกิดความไว้วางใจระหว่างประชาชนต่างๆ ทั้งหมดนี้ล้วนมีความสลักสำคัญในพันธกิจการแพร่ธรรมของพระศาสนจักรในทวีปนี้ ทั้งหมดนี้ย่อมเรียกร้องให้ชุมชนคาทอลิกพิจารณามโนธรรม  มีความกล้าหาญที่จะแสวงหาการคืนดีกัน  และรื้อฟื้นความมุ่งมั่นที่จะทำการเสวนาก่อนก้าวสู่สหัสวรรษที่สามนี้ เป็นที่ปรากฏชัดเจนแล้วว่า พระศาสนจักรจะสามารถแพร่ธรรมได้  ก็ด้วยความพยายามที่จะก่อให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียวกันในทุกด้าน  ความเป็นหนึ่งเดียวและพันธกิจต้องควบคู่กันไป