แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การเสวนากับศาสนาอื่นๆ
31. ในสมณสาสน์ “ก้าวสู่สหัสวรรษที่สาม” ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ว่า สหัส-วรรษใหม่นี้ เปิดโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการเสวนากับศาสนาต่างๆ และในการพบปะกับผู้นำศาสนาที่ยิ่งใหญ่ในโลก การติดต่อ การเสวนาและการร่วมมือกับผู้นับถือศาสนาอื่น เป็นภาระกิจที่สภาพระสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้มอบให้เป็นหน้าที่ และถือว่าเป็นการท้าทายของพระศาสนจักรโดยส่วนรวม กฎเกณฑ์ของการเสาะแสวงหาความสนิทสัมพันธ์กับศาสนาอื่นๆ นี้ ได้รับการกำหนดไว้ในประกาศของสภาพระสังคายนาวาติกันเรื่อง “ในยุคสมัยของเรา” (Nostra Aetate) ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 1965 ซึ่งนับเป็นแม่บทของการเสวนากับศาสนาต่างๆ ในยุคสมัยของเรา จากมุมมองของคริสตศาสนา การเสวนากับศาสนาอื่น มิใช่เป็นแต่เพียงการส่งเสริมความเข้าใจและเพิ่มพูนความรู้ให้แก่กันและกันเท่านั้น หากแต่เป็นส่วนหนึ่งแห่งพันธกิจการแพร่ธรรมของพระศาสนจักร เป็นการแสดงออกซึ่งการแพร่ธรรมภายนอก (ad gentes) ในการเสวนากับศาสนาอื่นนั้น คริสตชนนำความเชื่อมั่นว่า ความรอดอันครบบริบูรณ์นั้นย่อมมาจากพระคริสตเจ้าเท่านั้น และพระศาสนจักรกลุ่มต่างๆ ซึ่งพวกเขาเป็นสมาชิกอยู่นั้น คือ หนทางธรรมดา ที่จะพาไปสู่ความรอด ข้าพเจ้าขอกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่ง ถึงสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เขียนไปถึงการประชุมใหญ่ของสหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเซียว่า “แม้ว่าพระศาสนจักรจะยอมรับด้วยความเต็มใจ ซึ่งสิ่งที่ดีและศักดิ์สิทธิ์ ในหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา ศาสนาฮินดู และอิสลาม ว่าเป็นการสะท้อนความจริงที่ให้ความสว่างแก่มวลมนุษย์ แต่ก็มิได้ทำให้หน้าที่และความตั้งใจที่จะประกาศโดยไม่หยุดหย่อนว่า พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็น “หนทาง ความจริง และชีวิต...” หมดสิ้นไป ความจริงที่ว่า ผู้นับถือศาสนาอื่น สามารถรับพระ-หรรษทานของพระเป็นเจ้า และได้รับความรอดจากพระคริสตเจ้า นอกเหนือจากหนทางธรรมดาที่พระองค์ได้ทรงกำหนดไว้นั้น มิได้ลบล้างการเรียกร้องสู่ความเชื่อและการรับศีลล้างบาป ซึ่งพระเป็นเจ้าทรงมีพระประสงค์จะทรงประทานให้แก่มวลมนุษย์แต่อย่างใด”
    ตามที่ข้าพเจ้าได้เขียนไว้ในสมณสาสน์ของข้าพเจ้าเรื่อง “พันธกิจแห่งการไถ่กู้” ในขบวนการเสวนานั้น “จะต้องไม่หลงลืมกฎเกณฑ์หรือความจริงจอมปลอม แต่ควรมีการให้และการรับความเป็นประจักษ์พยาน เพื่อช่วยกันและกันให้ก้าวหน้า ในการเสาะแสวงหาและการมีประสบการณ์ด้านศาสนา และในขณะเดียวกัน ก็ขจัดอคติต่างๆ การไร้ความอดทน หรือความเข้าใจผิดให้หมดสิ้นไป ผู้ที่มีความเชื่อในคริสตศาสนาที่มีความมั่นคง และเป็นผู้ใหญ่เท่านั้น ที่สามารถทำการเสวนาได้อย่างแท้จริง “คริสตชนที่ดื่มด่ำในรหัสธรรมของพระคริสตเจ้า และผู้มีความสุขในกลุ่มชนแห่งความเชื่อเท่านั้น ที่หวังจะทำการเสวนาได้อย่างมีประสิทธิผล โดยไม่เป็นการเสี่ยงจนเกินไป ดังนั้น จึงมีความสำคัญมากสำหรับพระศาสนจักรในเอเซีย ที่จะจัดหาแบบอย่างอันเหมาะสมในการเสวนากับศาสนาอื่น การแพร่ธรรมในการเสวนา และการเสวนาเพื่อการแพร่ธรรม และควรให้การอบรมผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม
    หลังจากที่ได้เน้นถึงความเชื่อมั่นในพระคริสตเจ้าว่า มีความจำเป็นในการเสวนากับศาสนาอื่นแล้ว บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสมัชชา ก็ได้กล่าวถึงความจำเป็นแห่ง “การเสวนาแห่งชีวิตและจิตใจ” ผู้เป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า จำต้องมีจิตใจที่สุภาพและอ่อนโยนของพระอาจารย์ พวกเขาไม่ควรมีความหยิ่งจองหอง ไม่ควรยกตนข่มท่าน ในขณะที่เขาพบปะกับผู้ที่ร่วมเสวนากับเขา (ดู มธ.11:29) ความสัมพันธ์กับศาสนาอื่นๆ จะพัฒนาให้ก้าวหน้าได้ ก็ในบริบทของความเปิดใจให้กับผู้ที่นับถือศาสนาอื่น มีความพร้อมที่รับฟังเขา และความปรารถนาที่จะเคารพและพยายามเข้าใจเขาในสิ่งไม่สอดคล้องกัน สำหรับสิ่งเหล่านี้ ความรักต่อผู้อื่นย่อมขาดเสียมิได้ สิ่งเหล่านี้ควรลงเอยด้วยการร่วมมือกัน มีความกลมเกลียวกัน และให้ความสว่างแก่กันและกัน
    เพื่อเป็นการชี้นำสำหรับผู้ที่อยู่ในขบวนการนี้ บรรดาผู้ที่ร่วมประชุมสมัชชาได้เสนอให้จัดทำคู่มือการเสวนากับศาสนาอื่นขึ้น ในขณะที่พระศาสนจักรพยายามแสวงหาหนทางที่พบปะกับศาสนาอื่นๆ ข้าพเจ้ากล่าวถึงการเสวนาที่ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างมีผลที่ดีมาก ซึ่งรวมถึงการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญในศาสนาต่างๆ หรือผู้แทนของศาสนาเหล่านั้น โดยร่วมมือกันในการพัฒนามนุษย์ทั้งครบ และช่วยกันปกป้องคุณค่าของมนุษย์และศาสนา ข้าพเจ้าขอกล่าวย้ำอีกถึงความสำคัญของการรื้อฟื้น การรำพึงภาวนาในขบวนการเสวนานี้ บรรดานักบวชชายหญิง สามารถมีบทบาทได้อย่างมากมายในการเสวนากับศาสนาอื่นๆ ด้วยการเป็นประจักษ์พยาน ด้วยการดำเนินชีวิตจิต    และรหัสธรรมอันเป็นธรรมเนียมประเพณีอันยิ่งใหญ่ของคริสตศาสนา ว่ายังมีชีวิตชีวาอยู่มาก
    การพบปะอันน่าจดจำที่มีขึ้นที่เมืองอัสซีซี เมืองของนักบุญฟรันซิส เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 1986 ระหว่างพระศาสนจักรคาทอลิกกับผู้แทนของศาสนาอื่นๆ ในโลก แสดงให้เห็นว่า ชายหญิงผู้นับถือศาสนาต่างๆ ยังสามารถอุทิศตนในการอธิษฐานภาวนา และร่วมกันทำงานเพื่อสันติภาพและความดีงามของมนุษยชาติได้ โดยไม่ต้องละทิ้งศาสนาของตน พระศาสนจักรจำต้องพยายามรักษาไว้และสนับสนุนจิตตารมณ์ การพบปะและการร่วมมือระหว่างศาสนาต่างๆ ในทุกระดับ
ความเป็นหนึ่งเดียวกันและการเสวนากับศาสนาอื่น นับเป็นพันธกิจสองประการที่สำคัญยิ่งของพระศาสนจักร ซึ่งมีแบบฉบับอันสูงส่ง ในรหัสธรรมของพระตรีเอกภาพ อันเป็นแหล่งที่มาและจุดมุ่งหมายแห่งพันธกิจทั้งหลายทั้งปวงของพระศาสนจักร ของขวัญ “วันประสูติ” อันยิ่งใหญ่ ซึ่งบรรดาสมาชิกของพระศาสนจักร โดยเฉพาะบรรดานายชุมพาบาลทั้งหลาย สามารถจะมอบถวายแด่พระเจ้าแห่งประวัติศาสตร์ได้ ในวโรกาสครบสองพันปีแห่งการประสูติเป็นมนุษย์ ก็คือการช่วยให้จิตตารมณ์แห่งความเป็นเอกภาพ ความเป็นหนึ่งเดียวกัน ได้มีความมั่นคงในทุกระดับชีวิตของพระศาสนจักร เป็นการรื้อฟื้น “ความภาคภูมิใจอันศักดิ์สิทธิ์” ในความซื่อสัตย์อันต่อเนื่องในสิ่งที่ถ่ายทอดมา และความไว้วางใจในพระหรรษทาน และพันธกิจอันไม่เปลี่ยนแปลง ที่ได้ส่งพระศาสนจักรไปสู่ประชาชนทั่วไปในโลก เพื่อเป็นสักขีพยานถึงความรอดอันเปี่ยมด้วยความรักและพระเมตตาของพระเป็นเจ้า เมื่อใดที่ประชากรของพระเป็นเจ้า สำนึกในพระพรอันเป็นของพวกเขาในพระคริสตเจ้า เมื่อนั้นเขาจึงจะสามารถมอบพระพรนี้ ให้ผู้อื่นต่อไป อาศัย “การป่าวประกาศและการเสวนา”