แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ปัสกา / ธรรมล้ำลึกปัสกา (Paschal Mystery)

“ปัสกา” เป็นคำศัพท์มาจากภาษาฮีบรูคือ Pesach    ในประวัติศาสตร์ของชาวยิว (คือ บรรพบุรุษของคริสตชนทางความเชื่อในปัจจุบัน)  หมายถึง การผ่านเว้น คือพระเจ้าจะไม่ฆ่าบุตรหัวปีของบ้านที่มีเลือดของลูกแกะทาอยู่บนวงกบประตู รวมถึงจะไม่ให้มีภัยพิบัติบังเกิดแก่บ้านนั้นด้วย (เทียบ อพย. 12:13,26-27)
ตามหนังสืออพยพในภาคพันธสัญญาเดิม ปัสกาเป็นเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อของชาวยิว ทุกครอบครัวของชาวยิวจะเอาลูกแกะตัวหนึ่งมาฆ่าถวายบูชาเป็นตัวแทนที่จะต้องถูกพิพากษาแทนครอบครัวของตน  เสร็จแล้วเอาเลือดมาทาที่วงกบประตูเพื่อให้พระเจ้าเห็นและละเว้นการลงโทษบ้านนั้น พวกเขาจะต้องกินเนื้อปิ้งกับขนมปังไร้เชื้อและผักรสขม  ให้หมดไม่ให้เหลือเศษจนถึงเวลา ให้เผาเศษเหลือไปเสีย ผู้ร่วมงานเลี้ยงต้องเตรียมของและแต่งตัวพร้อมที่จะออกเดินทางในรุ่งเช้าเพื่อออกจากแผ่นดินอียิปต์ (เทียบ อพย. 12:1-14)   วันนี้กลายเป็นวันที่สำคัญวันหนึ่งที่มีการรำลึกถึงทุกปี   โดยกำหนดเป็นวันที่ 14 เดือนนิชาน ตามปฏิทินยิว(ประมาณกลางเดือนมีนาคม-เมษายน)  แต่ปฏิทินนี้ใช้เดือนตามจันทรคติ ทำให้การกำหนดวันนี้ในแต่ละปีไม่แน่นอน

    สำหรับการฉลองของคริสตชน ปัสกา มีความหมายว่า เป็นการผ่านความทุกข์สู่ความยินดีโดยอาศัยการทนทุกข์ทรมาน  การสิ้นพระชนม์  และการกลับคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสตเจ้า  ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือ การฉลองการได้รับชีวิตที่เป็นอิสระจากบาปและความตายนั้นเอง มีคนเปรียบเทียบว่าโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้าที่หลั่งออกมาในขณะถูกตรึงกางเขนก็เช่นเดียวกับเลือดของลูกแกะปัสกาที่ทำให้ทุกคนที่เชื่อในองค์พระคริสตเจ้า  ก็จะได้รับชีวิตใหม่ที่เป็นอิสระจากบาปทั้งปวงด้วย
    ตามที่กล่าวมา การฉลองปัสกาจึงมีส่วนประกอบอยู่ 3 เหตุการณ์ คือการทนทรมานของพระเยซูคริสตเจ้าตั้งแต่ทรงทราบว่า จะต้องถูกตรึงกางเขน จนกระทั่งพระองค์ถูกจับและถูกตรึงกางเขนให้สิ้นพระชนม์พร้อมกับนักโทษประหารอีก 2 คน   ส่วนที่สองคือ การสิ้นพระชนม์ของพระองค์  เพื่อเป็นการพิสูจน์ถึงความรักที่ทรงมีต่อมนุษย์ทุกคนว่า  ทรงรักมนุษย์มากจนกระทั่งยอมสละพระชนมชีพเพื่อให้มนุษย์ได้รอดพ้นจากกิเลสบาปต่างๆ
    ส่วนที่สาม อันเป็นหัวใจของการฉลองและเป็นหัวใจของศาสนาคริสต์ด้วยคือ การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้า(เทียบ ยน. 20:1-10)  ซึ่งคริสตชนถือว่า เป็นทั้งความจริงทางศาสนา (ข้อความเชื่อทางศาสนา)  และเป็นสัญลักษณ์แห่งการมีชัยชนะเหนือบาปและความตาย ซึ่งจะหมายถึง “ชีวิตใหม่” ที่คริสตชนได้รับโดยอาศัยความเชื่อในองค์พระเยซูคริสตเจ้า
    ดังนั้นวันฉลองปัสกา หรือบางครั้งในภาษาอังกฤษเรียกว่า วัน
อีสเตอร์(Easter) จึงเป็นวันที่มีความหมายและความสำคัญยิ่งกว่าวันคริสต์มาส จึงมีศาสนพิธีที่เกี่ยวข้องกับการฉลองปัสกานี้อยู่มากคือ
    เทศกาลมหาพรต เป็นช่วงเวลาของการเตรียมตัวของคริสตชน 40 วันก่อนวันฉลองปัสกา  วันเริ่มต้นของเทศกาลนี้จะเป็นวันพุธเสมอ เรียกวันนี้ว่า พุธรับเถ้า  คริสตชนจะมารับเถ้าที่ได้จากการเผาใบตาลและผ่านพิธีเสกจากพระสงฆ์แล้ว  ในวันนี้ คริสตชนจะรับประทานอาหารอิ่มได้เพียง 1 มื้อ และงดเนื้อด้วย เรียกว่า ถือศีลอดอาหาร
    ตลอดเทศกาลมหาพรตเป็นเวลา 40 วัน คริสตชนจะใช้ชีวิตภาวนาเพื่อสำรวจตัวเอง   งดความฟุ่มเฟือยต่างๆสำนึกถึงความผิดที่ตนได้กระทำและชดเชยด้วยการใช้โทษบาป  ในขณะเดียวกัน ก็จะมีการเสียสละทรัพย์สินและสิ่งของให้แก่พี่น้องที่ขาดแคลน  และเมื่อสิ้นสุดเทศกาลนี้ คริสตชนก็พร้อมที่จะเข้าสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์
    สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ เริ่มต้นที่ วันอาทิตย์ใบลาน ซึ่งเป็นการระลึกถึงวันที่พระเยซูคริสตเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างกษัตริย์ และในวันนั้นชาวเยรูซาเล็มนำใบลานมาปูตามทางที่พระองค์เสด็จผ่านไป  พระองค์ประทับอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มจนถึงวันพฤหัสบดีซึ่งตลอดเวลาทรงทราบดีถึงมรณกรรมที่กำลังจะมาถึง
    พระเยซูเจ้าต้องการสอนสาวกให้ทราบถึงความหมายของการเป็น “ผู้นำ” ว่าเป็นการรับใช้คนอื่นๆด้วยการล้างเท้าให้แก่สาวก ดังนั้นใน วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ จึงมีพิธีล้างเท้าขึ้น
    พระเยซูคริสตเจ้าทรงถูกจับกุมในคืนวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ เป็นวันที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลมหาสนิทเพื่อระลึกถึงพันธสัญญาใหม่ที่พระองค์ทรงไถ่กู้มนุษย์  และถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการตรึงกางเขน และสิ้นพระชนม์ในตอนบ่าย 3 โมงของวันศุกร์  คริสตชนจึงถืออดอาหารอีก 1 วันในวันนี้ และเรียกวันนี้ว่า วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (ชาวบ้านมักเรียกว่า วันพระ(เยซูเจ้า)ตาย)  วัดต่างๆจะจัดพิธีเดินรูป 14 ภาค  เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับพระเยซูคริสตเจ้า  มรรคาศักดิ์สิทธิ์เป็นทางเดินที่พระเยซูเจ้าได้ทรงแบกกางเขนผ่านไป เริ่มจากสถานที่ตัดสินลงโทษของปอนทิอัส ปิลาต ข้าหลวงโรมัน จนถึงเนินเขากัลวารีโอ ที่พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงและสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน

เหตุการณ์อันน่าเศร้านี้ คริสตชนระลึกโดยจัดลำดับเป็น 14 สถาน ซึ่ง 9 สถานมีกล่าวในพระวรสาร ส่วนอีก 5 สถานเป็นความเชื่อตามธรรมเนียมคริสตชน. 2 สถานแรกอยู่บริเวณป้อมอันโตเนีย อีก 7 สถานเรียงรายตามเส้นทางและ 5 สถานสุดท้ายอยู่ภายในวัดแห่งพระคูหาศักดิ์สิทธิ์ ทุกวันศุกร์เวลาบ่าย 3 โมง นักบวชฟรันซิสกันจะเดินแห่ตามมรรคาศักดิ์สิทธิ์
    พิธีฉลองปัสกา หรืออีสเตอร์  ในเวลาค่ำ วันเสาร์จะจัดศาสนพิธีอันประกอบด้วย การเสกน้ำ เสกไฟ การโปรดศีลล้างบาปแก่ผู้เตรียมเป็นคริสตชนและพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ
    การเสกน้ำ เสกไฟ เพื่อให้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์และนำมาใช้ในพิธีโปรดศีลล้างบาป  ส่วนไฟที่เสกนั้นใช้จุดเทียนปัสกาและเทียนสำหรับผู้ที่เตรียมเป็นคริสตชน  คือ ไฟปัสกานี้จะหมายถึงพระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงชนะความตายแล้ว และจะเป็นแสงสว่างแห่งชีวิตของเขาตลอดไป 
    พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณในวันนี้ จะมีภาครื้อฟื้นความเชื่อของคริสตชนด้วย  เพื่อให้เขาระลึกคำปฏิญาณของเขาในวันรับศีลล้างบาป  และเพิ่มความเชื่อความศรัทธาในคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้าซึ่งจะเสริมสร้างชีวิตภายในของคริสตชนให้เติบโตควบคู่ไปกับความเจริญของโลกทางวัตถุ  เพื่อให้มีชีวิตที่สมดุลพร้อมๆกับการพยายามสร้างสรรค์โลกให้สมบูรณ์และมีสันติภาพมากขึ้น
    สาเหตุที่มีการโปรดศีลล้างบาปให้แก่ผู้เตรียมเป็นคริสตชนและการรื้อฟื้นความเชื่อของคริสตชนในวันนี้ ก็เพราะต้องการให้การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้าในวันนี้ได้จารึกไว้ในจิตใจของคริสตชนทุกคน  อันจะเป็นความหวังและกำลังใจในการดำเนินชีวิตตามความเชื่อของคริสตชนนั่นเอง
    และในวันฉลองปัสกา ตามวัดต่างๆอาจทำไข่ย้อมสีต่างๆ มาแจก ซึ่งเราเรียกกันว่า ไข่ปัสกา (หรือไข่อีสเตอร์) นั้น  ก็เพื่อเป็นเครื่องหมายของการเกิดใหม่ อันเป็นสัญลักษณ์ของการกลับคืนพระชนมชีพของ
พระเยซูคริสตเจ้า  และชีวิตใหม่ของทุกคนที่มีความเชื่อในพระองค์