แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ข้อควรใส่ใจเมื่ออ่านหรือฟังพระคัมภีร์


เพื่อให้เข้าใจพระคัมภีร์ในเวลาอ่านหนังสือหรือฟังพระคัมภีร์ควรใส่ใจข้อต่อไปนี้
3.1 ความต่างสมัย และต่างวิธีการเขียน    (สำนวนรูปแบบ) ให้ระลึกเสมอว่าหนังสือเล่มต่างๆ ในพระคัมภีร์เขียนขึ้นในสมัยต่างๆ กันในระยะเวลาราว 1,000 ปีและเขียนโดยคนหลายๆ คน (ซึ่งส่วนใหญ่เราไม่ทราบชื่อ) จึงมีลักษณะภาษาสำนวน วิธีการแตกต่างกันออกไป ไม่เหมือนกัน เราจึงเอามาตรการเดียวสำหรับให้เข้าใจหนังสือในพระคัมภีร์ทุกเล่มไม่ได้เป็นอันขาด แต่ต้องเข้าใจหรือทำใจตามกาลสมัยและรูปแบบการเขียนเฉพาะเล่มนั้นๆ ที่อ่านหรือฟัง

3.2 พระคัมภีร์เป็นหนังสือมีจุดประสงค์เดียว
คือ เล่าเรื่องและแผนการความรอดที่พระจะประทานแก่มนุษย์ ฉะนั้น ใครที่อ่านพระคัมภีร์แล้วหลงคิดค้นหาเรื่องความจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ หรือ วิชาหนึ่งวิชาใด จึงอ่านหนังสือผิดเล่มเสียแล้ว และจะไม่มีวันเข้าใจเนื้อหาแท้ของพระคัมภีร์ จะก่อให้เกิดความสงสัยดูหมิ่น ดูถูกและดูพระคัมภีร์เป็นเรื่องงมงายน่าขันไปในที่สุด ฉะนั้น จึงควรปรับจิตใจให้ตรงเสียก่อนตามเงื่อนไขนี้ ทั้งนี้ เพราะเจาะจงไปดูว่าเบื้องหลังเรื่องที่เล่าไว้ในพระคัมภีร์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรนั้น เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เล่านั้นพระเป็นเจ้าต้องการจะบอกหรือสอนอะไรแก่เรา มิใช่หลงอยู่แต่ตัวเรื่องราวหรือเหตุการณ์นั้น

3.3 พระคัมภีร์ย่อมใหม่อยู่เสมอ

เนื่องจากพระเป็นเจ้าเป็นประดุจน้ำพุที่พุ่งขึ้นมาไม่รู้เหือดแห้งสำหรับหล่อเลี้ยงชีวิตวิญญาณมนุษย์ไปชั่วนิรันดร    พระคัมภีร์ตอนใดที่เรารู้และเคยฟังเคยอ่านมาจนจำได้ อาจนำมาซึ่งความตื้นเขินแห่งจิตใจของเราเพราะเราไม่อยากฟัง ไม่อยากอ่านซ้ำอีกต่อไป บางคนถึงกับพูดว่า “คุณขึ้นต้นพระวรสารมาสัก 2 ประโยคสิ แล้วผมจะต่อให้จบโดยไม่ต้องดูหนังสือ แถมจะเทศน์ให้ฟังต่อหลังจากจบแล้วด้วย” ความคิดและคำพูดเหล่านี้เป็นเครื่องมือปิดกันสายธารฉุ่มฉ่ำที่ใหม่เอี่ยมจากพระเป็นเจ้ามีให้มาสู่จิตใจของคนคิด คนพูด ที่สุดพระคัมภีร์สำหรับเขากลายเป็นหนังสือนวนิยายบนหิ้งที่ต้องเก็บไว้จนฝุ่นจับเพียงเพราะเขาอ่านจบไปแล้ว    แต่แท้จริงพระคัมภีร์บทเดียวกัน อ่านวันนี้แล้ว ในวันพรุ่งนี้อ่านซ้ำอีก อีกเดือนอ่านซ้ำอีก หรือ อีกปีอ่านอีก จะมีเสียงและความคิดใหม่ไม่ซ้ำอันเดิมให้แก่จิตใจของผู้ที่อ่านด้วยความคิดว่า “พระองค์เป็นสิ่งใหม่เสมอสำหรับข้าพเจ้า” และเช่นนี้พระเป็นเจ้าจะพูดกับเขาไปตลอดชีวิต เป็นรางวัลสำหรับเขาที่ล่วงรู้อย่างถ่องแท้ ในความเป็นผู้ไม่มีขอบเขตของพระในชีวิตของเรา

3.4 พระคัมภีร์กับความเพียรทน
เมื่อเริ่มอ่านพระคัมภีร์ อาจจะไม่เข้าใจและวุ่นวายใจ จากเนื้อหาพระคัมภีร์เองก็ดี หรือ จากความกังวลแห่งชีวิตของตนก็ดี เราอย่าเพิ่งท้อใจ เหนื่อยหน่าย ขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในพระคัมภีร์มิใช่เป็นเจ้าของง่ายๆ พระเยซูตรัสเปรียบเทียบว่า เหมือนไข่มุกเม็ดงามที่พ่อค้าพบเข้า เขากลับไปขายของทุกอย่างที่มี เพื่อรวบรวมเงินมาซื้อไข่มุกเม็ดนั้น พระคัมภีร์ก็เช่นกัน มิใช่จะได้ความเข้าใจและความรักพระคัมภีร์ง่ายๆ แต่ต้องลงทุน อดทน และที่สำคัญ ต้องมีจิตใจที่ไม่ยอมเลิกราการอ่านพระคัมภีร์ เราควรต้องใช้คำคมที่ว่า “รักอ่านพระคัมภีร์ไม่ต้องรักมากแต่รักนานๆ” อนึ่งในการอ่านพระคัมภีร์นั้น เนื่องจากเป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์จึงสมควรจะสวดภาวนาขอพระจิตช่วยให้เราเห็นความจริงที่พระองค์แฝงไว้ในพระคัมภีร์ จึงไม่ควรละเลยข้อแนะนำนี้ทุกครั้งที่จะอ่านหรือฟังพระคัมภีร์

3.5 ไม่อ่านพระคัมภีร์ทั้งหมด
พระคัมภีร์มีไว้สำหรับค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ คิด โดยเฉพาะอ่านตามกำหนด หรือ อ่านเมื่อต้องการจะหาคำตอบ การจะหาคำตอบอะไรจากพระเจ้าสำหรับตนเอง ฉะนั้น เมื่อเห็นพระคัมภีร์เล่มใหญ่ๆ ไม่ต้องตกใจ เพราะไม่มีใครให้เราอ่านรวดเดียวจบ จำง่ายๆ ว่า กระปุกออมสินนั้นมีไว้ค่อยๆ หยอดสะสมฉันใด ชีวิตเราก็เหมือนกระปุกออมสิน พระคัมภีร์เป็นเหรียญเงินสำหรับให้เราใช้หยอดลงไปในตัวเรา วันละบาท สองบาท ฉันนั้น ไม่มีใครเอาธนบัตรใหญ่ ไปแลกเป็นเหรียญแล้วใส่ลงไปในกระปุกทีเดียวเป็นแสนๆ บาท