แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือปรีชาญาณ

 

(1)    หนังสือ “ปรีชาญาณ” ซึ่งเขียนเป็นภาษากรีกเป็นหนังสือใน “สารบบที่สอง” บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรรู้จักและใช้หนังสือฉบับนี้ตลอดมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 2 และแม้ว่าจะมีปิตาจารย์บางท่านยังลังเลใจหรือไม่ยอมรับ โดยเฉพาะนักบุญเยโรม พระศาสนจักรก็รับรองว่าหนังสือฉบับนี้ได้รับการดลใจเหมือนกับหนังสือฉบับอื่นๆในสารบบของชาวยิว
    หนังสือฉบับนี้มีชื่อในพระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับ Vulgata ว่า “Liber Sapientiae”  (หนังสือปรีชาญาณ) ภาคแรก (บทที่ 1-5) อธิบายถึงบทบาทที่ปรีชาญาณมีต่อชะตากรรมของมนุษย์ และยังเปรียบเทียบชะตากรรมของคนชอบธรรมและคนอธรรม ทั้งในชีวิตนี้และในชีวิตหลังความตาย – ภาคที่สอง (บทที่ 6-9) กล่าวถึงบ่อเกิดและธรรมชาติของปรีชาญาณ ทั้งยังบอกวิธีที่จะได้ปรีชาญาณมาครอบครองด้วย – ภาคสุดท้าย (บทที่ 10-19) กล่าวยกย่องบทบาทของปรีชาญาณและของพระเจ้าในประวัติศาสตร์ของประชากรอิสราเอลที่ทรงเลือกสรร และเน้นเป็นพิเศษ นอกเหนือจากอารัมภบทสั้นๆ ถึงเหตุการณ์วิกฤติในประวัติศาสตร์เพียงประการเดียว คือการที่พระเจ้าทรงช่วยประชากรอิสราเอลให้รอดพ้นจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์ ภาคที่สามนี้ยังมีข้อความยืดยาวกล่าวถึงเรื่องการกราบไหว้รูปเคารพแทรกเข้ามาด้วย ในบทที่ 13-15
    ผู้เขียนสมมุติว่าตนคือกษัตริย์ซาโลมอน แม้เขาจะไม่ออกนามนี้ ดังจะเห็นได้ชัดจากข้อความใน 9:7-8,12 และชื่อของหนังสือในภาษากรีกคือ “พระปรีชาญาณของกษัตริย์ซาโลมอน” ผู้เขียนแสดงตนในข้อความที่เขียนประหนึ่งว่าเป็นกษัตริย์ (7:5; 8:9-15) และกำลังให้คำแนะนำแก่เพื่อนกษัตริย์ด้วยกัน (1:1; 6:1-11,21) แต่ก็เห็นได้ชัดว่าการกล่าวอ้างเช่นนี้เป็นเพียงวิธีการทางวรรณกรรมเท่านั้น เช่นเดียวกับผู้เขียนหนังสือปัญญาจารย์และเพลงซาโลมอน เขาอ้างว่าตนคือกษัตริย์ซาโลมอน ผู้ทรงปรีชายิ่งใหญ่ที่สุดของอิสราเอล หนังสือปรีชาญาณนี้ทั้งเล่มเขียนเป็นภาษากรีก รวมทั้งภาคแรก (บทที่ 1-5) ซึ่งมีบางคนเข้าใจผิดคิดว่าแต่แรกเขียนเป็นภาษาฮีบรู เรื่องราวซึ่งต่อเนื่องกันอย่างดีในหนังสือแสดงให้เห็นได้ชัดว่าหนังสือฉบับนี้เป็นผลงานของผู้เขียนคนเดียวเท่านั้น หนังสือฉบับนี้ยังมีลีลาการเขียนคงที่ตลอดเล่ม เป็นลีลาวรรณกรรมที่ไหลลื่นน่าฟัง และบางครั้งเมื่อจำเป็น ยังเป็นลีลาที่เร้าใจแบบนักพูดปราศรัยต่อสาธารณชนผู้ฟังด้วย
    ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้เขียนเป็นชาวยิว – เขามีความเลื่อมใสศรัทธาต่อ “พระเจ้าของบรรพบุรุษ” (9:1) และภูมิใจที่เป็นสมาชิกของ “ประชากรศักดิ์สิทธิ์ พงศ์พันุ์ไร้มลทิน” (10:15) แต่เขาก็เป็นชาวยิวที่รับอิทธิพลของอารยธรรมกรีก การที่เขากล่าวยืดยาวถึงการอพยพโดย เปรียบเทียบชาวอียิปต์กับชาวอิสราเอล กล่าวประณามการนับถือกราบไหว้สัตว์เป็นเทพเจ้า แสดงว่าเขาพำนักอยู่ที่กรุงอเล็กซานเดรีย ราชธานีของโลกเฮลเลนิสต์ในสมัยราชวงศ์โทเลมี ที่ซึ่งมีชาวยิวโพ้นทะเลพำนักอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้เขียนอ้างข้อความจากพระคัมภีร์ (พันธสัญญาเดิม) จากตัวบทฉบับ LXX ซึ่งเป็นคำแปลพระคัมภีร์ภาษากรีกที่มีกำเนิดขึ้นในสังคมที่นั่น ผู้เขียนจึงน่าจะมีชีวิตอยู่หลังจากที่คำแปลพระคัมภีร์ฉบับนี้เสร็จบริบูรณ์แล้ว แต่ก็ก่อนสมัยของฟีโล (Philo 20 ก.ค.ศ. – ค.ศ. 54) เพราะเขาไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงผลงานของนักปรัชญาผู้นี้เลย และฟิโลเองก็ดูเหมือนจะไม่ได้กล่าวอ้างอิงถึงข้อความในหนังสือปรีชาญาณนี้ด้วยเช่นกัน  ถึงกระนั้นเราก็พบความคิดคล้ายๆกันหลายประการในข้อเขียนของคนทั้งสองนี้ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันและในช่วงเวลาใกล้เคียงกันด้วย นักวิชาการยังพิสูจน์โดยปราศจากข้อโต้แย้งไม่ได้ว่าผู้เขียนพันธสัญญาใหม่ใช้ข้อความจากหนังสือปรีชาญาณ แต่ดูเหมือนว่าเปาโลได้รับอิทธิพลจากลีลาการเขียนของหนังสือฉบับนี้ และยอห์นก็ดูเหมือนจะได้ยืมความคิดบางประการจากหนังสือปรีชาญาณมาใช้อธิบายเทววิทยาเรื่องพระวจนาตถ์ด้วย หนังสือฉบับนี้จึงน่าจะเขียนขึ้นตอนปลายศตวรรษแรกก่อนคริสตกาล นับได้ว่าเป็นหนังสือฉบับสุดท้ายของพันธสัญญาเดิม

(2)    เจตนาแรกของผู้เขียนหนังสือฉบับนี้คือ เขียนสำหรับเพื่อนร่วมชาติชาวยิว ซึ่งมีความเชื่อคลอนแคลน  เพราะได้รับอิทธิพลที่ดึงดูดความสนใจจากความก้าวหน้าด้านวิชาการที่กรุง อเล็กซานเดรีย จากระบบความคิดทางปรัชญาทันสมัยที่ทรงอิทธิพล จากความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษาเรื่องธรรมชาติ จากความน่าสนใจของพิธีกรรมทางศาสนาลึกลับ จากโหราศาสตร์ จากรหัสยลัทธิหลายแบบ จากศาสนพิธีน่าเลื่อมใสซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก ถึงกระนั้น ผู้เขียนก็ยังคิดถึงคนต่างศาสนาที่ไม่ใช่ชาวยิวด้วย โดยหวังจะชักนำคนเหล่านี้ให้เข้ามาหาพระเจ้าผู้ทรงรักมนุษย์ทุกคน เจตนาดังกล่าวอาจสังเกตเห็นได้หลายครั้งจากวิธีพูดและวลีที่ใช้ ถึงกระนั้นเจตนานี้ยังคงเป็นเจตนารอง หนังสือปรีชาญาณสนใจมากกว่าที่จะปกป้องความเชื่อของชาวยิวมากกว่าที่จะดึงดูดคนต่างศาสนามาเข้าเป็นพวกเดียวกับตน
    เมื่อพิจารณาดูสภาพแวดล้อม ความรู้ การศึกษาและเจตนาของผู้เขียนแล้ว เราไม่แปลกใจเลยที่ผลงานของเขามีความสัมพันธ์หลายด้านกับความคิดแบบกรีก ถึงกระนั้น เราก็ไม่ควรเน้นย้ำเรื่องนี้มากเกินไป การศึกษาอบรมตามแบบอารยธรรมกรีกทำให้ผู้เขียนรู้จักถ้อยคำที่เป็นนามธรรมหลากหลายขึ้น และรู้จักใช้กระบวนการแสดงความคิดตามเหตุผลได้มากกว่าที่คำศัพท์และโครงสร้างทางไวยากรณ์ของภาษาฮีบรูเอื้ออำนวยให้แสดงออกได้ การอบรมศึกษาเช่นนี้ทำให้ผู้เขียนรู้จักศัพท์เฉพาะทางปรัชญาหลายคำ รู้จักจัดหมวดหมู่สิ่งของและประเด็นเรื่องราวต่างๆที่เขากล่าวถึงได้อย่างเป็นระเบียบ แต่อิทธิพลที่ผู้เขียนมีอย่างจำกัดและไม่ลึกซึ้งมากนักจากอารยธรรมนี้ก็มิได้หมายความว่าเขานิยมความคิดแบบกรีกอย่างเต็มที่ เขาเพียงแต่ยืมถ้อยคำมาเพื่อแสดงความคิดที่เขาได้รับมาจากพันธสัญญาเดิมเท่านั้น ความรู้ของเขาเกี่ยวกับปรัชญาสำนักต่างๆ และเกี่ยวกับวิชาโหราศาสตร์คงจะมีไม่มากไปกว่าผู้มีการศึกษาโดยทั่วไปร่วมสังคมร่วมสมัยเท่านั้น

(3)    ผู้เขียนไม่ใช่นักปรัชญาหรือนักเทววิทยา เขาเป็นเพียง “ผู้มีปรีชา” ตามแบบของอิสราเอลเท่านั้น เช่นเดียวกับนักเขียนวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณซึ่งมีชีวิตอยู่ก่อนหน้านั้น เขายกย่องส่งเสริมปรีชาญาณซึ่งมีกำเนิดจากพระเจ้า ว่าเป็นบ่อเกิดของความชอบธรรมและคุณความดีทุกประการ มนุษย์เราจะต้องอธิษฐานวอนขอปรีชาญาณนี้จากพระเจ้า แต่ผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณมีความคิดก้าวหน้ากว่าผู้ที่มาก่อนเขา โดยเพิ่มเติมความรู้ใหม่ๆที่มนุษย์เพิ่งค้นพบเข้ากับ “ปรีชาญาณ” ที่มีอยู่แล้วนี้ (ปชญ 7:17-21; 8:8)  ปัญหาเรื่องการให้รางวัลความดีซึ่งบรรดาผู้มีปรีชาในอดีตเคยศึกษาค้นคว้ามาเป็นเวลานานแต่ไม่พบคำตอบที่น่าพอใจ (ดู “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวรรณกรรมปรีชาญาณ” ข้อ 3) ในที่สุดก็พบคำตอบในหนังสือปรีชาญาณนี้ ผู้เขียนใช้ความรู้จากปรัชญาของพลาโตที่แยกวิญญาณกับร่างกายของมนุษย์ (ดู ปชญ 9:15) และคำสอนเรื่องอมตภาพของวิญญาณ เพื่อประกาศสอนว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษยชาติให้มีชีวิตอมตะ (ปชญ 2:23) และความไม่รู้เสื่อมสลายเป็นรางวัลจากปรีชาญาณและเป็นหนทางนำมนุษย์ไปพบพระเจ้า (ปชญ 6:18-19) ชีวิตในโลกนี้เป็นเพียงการเตรียมตัวไปรับชีวิตอีกชีวิตหนึ่งที่ผู้ชอบธรรมมีอยู่กับพระเจ้า ส่วนคนอธรรมจะต้องได้รับโทษ (ปชญ 3:9-10) ผู้เขียนไม่กล่าวพาดพิงถึงการกลับคืนชีพของร่างกาย แต่ก็ดูเหมือว่าเขายอมรับว่าร่างกายอาจกลับคืนชีพมารับสภาพความเป็นอยู่แบบเดียวกับจิตได้ ซึ่งก็เป็นความพยายามที่จะประนีประนอมแนวความคิดแบบกรีกเรื่องอมตภาพของวิญญาณเข้ากับคำสอนของพระคัมภีร์ ซึ่งมีแนวโน้มกล่าวถึงเรื่องการกลับคืนชีพของร่างกาย (เทียบ ดนล)
    คำสอนของหนังสือปรีชาญาณที่ว่า “พระปรีชาญาณ” คือคุณลักษณะของพระเจ้านั้น เป็นคำสอนที่มีอยู่แล้วในพระคัมภีร์ พระปรีชาญาณมีส่วนร่วมงานของพระเจ้าในการเนรมิตสร้าง และนำประวัติศาสตร์ไปสู่จุดหมายปลายทาง คุณสมบัติของพระปรีชาญาณที่หนังสือฉบับนี้กล่าวถึงตั้งแต่บทที่ 11 เป็นต้นไปนั้นก็คือคุณลักษณะของพระเจ้าด้วย ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระปรีชาญาณก็คือคุณลักษณะประการเดียวกันกับที่พระเจ้าทรงใช้ ในการปกครองดูแลโลกจักรวาล เพียงแต่ว่า “พระปรีชาญาณเป็นสิ่งที่ไหลล้นจากพระสิริรุ่งโรจน์ของพระผู้ทรงสรรพานุภาพ..........เป็นแสงสะท้อนความสว่างนิรันดร...............เป็นภาพลักษณ์แห่งความดีล้ำเลิศของพระองค์” (ปชญ 7:25-26) เพราะฉะนั้น “(พระ)ปรีชาญาณ” จึงแตกต่างจากพระเจ้า แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นแสงสะท้อนออกมาจากพระธรรมชาติของพระองค์ ในเรื่องนี้ดูเหมือนว่าผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณไม่ได้ก้าวไกลไปกว่านักเขียนวรรณกรรมปรีชาญาณคนอื่นๆ (ดู “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวรรณกรรมปรีชาญาณ” ข้อ 2) ไม่ปรากฏว่าผู้เขียนให้พระปรีชาญาณมีความเป็นอยู่เป็นเอกเทศแยกจากพระเจ้า แต่ทว่าข้อความทั้งตอนเกี่ยวกับธรรมชาติของปรีชาญาณใน ปชญ 7:22 – 8:8 พัฒนาวิธีแสดงความคิดดั้งเดิมต่อไปอีกก้าวหนึ่ง และมีความเข้าใจถึงลักษณะต่างๆของปรีชาญาณลึกซึ้งยิ่งขึ้น
    ผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณไม่ใช่คนแรก ที่บรรยายถึงประวัติศาสตร์ของชาวอิสราเอล ก่อนหน้านั้น “บุตรสิรา” ก็เคยทำมาแล้ว (บสร บทที่ 44-50; ดู สดด บทที่ 78, 105, 106, 135, 136 ด้วย) แต่ผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณมีเอกลักษณ์เฉพาะของตนในสองเรื่อง เรื่องแรกคือเขาพยายามอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและให้ข้อสรุป “ปรัชญาประวัติศาสตร์ทางศาสนา” ซึ่งมีการอธิบายแบบใหม่ถึงเหตุการณ์ที่มีเล่าในพระคัมภีร์ ตัวอย่างเช่น เขาพยายามมองหาให้เห็นว่าพระเจ้าทรงใช้ “ความพอดี” ในการที่ทรงลงโทษชาวอียิปต์และชาวคานาอันใน ปชญ 11:15 – 12:27 ส่วนเรื่องที่สองที่มีความหมายมากกว่านี้ก็คือเขานำเรื่องราวที่มีเล่าอยู่แล้วในพระคัมภีร์มาเล่าใหม่ให้เข้ากับความคิดและคำสอนที่เขาต้องการแสดง ในบทที่ 16-19 เขาจะเปรียบเทียบรายละเอียดของเหตุการณ์ ที่มีผลต่อชะตากรรมต่างกันของชาวอียิปต์และของชาวอิสราเอล ผู้เขียนคิดค้นรายละเอียดมาเพิ่มเติมในการเล่าเหตุการณ์ต่างๆ บางทีก็นำเรื่องที่เกิดขึ้นต่างวาระกันมารวมเข้าไว้ด้วยกัน บางทีก็ขยายรายละเอียดของเหตุการณ์ให้ใหญ่โตยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นจริง วิธีการทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างดีเลิศของวิธีการที่บรรดาธรรมาจารย์ชาวยิวในสมัยต่อมาจะใช้อธิบายพระคัมภีร์ คือวิธีการที่นักวิชาการในปัจจุบันเรียกว่า “Midrash”
    รสนิยมของผู้อ่านได้เปลี่ยนไปพร้อมกับกาลเวลา และหนังสือปรีชาญาณก็ได้สูญเสียความนิยมที่เคยมีมาแต่ก่อน ถึงกระนั้น เรื่องราวในสองภาคแรก (บทที่ 1-9) ก็ยังมีข้อคิดหลายประการสำหรับบรรดาคริสตชน พระศาสนจักรจึงยังใช้ข้อความหลายตอนจากหนังสือปรีชาญาณในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
    ตัวบทของหนังสือปรีชาญาณมีเก็บรักษาตกทอดมาถึงปัจจุบัน ในเอกสารคัดลอกด้วยมือที่สำคัญ 4 ฉบับ ได้แก่สำเนาโบราณฉบับวาติกัน (B อายุตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 4) สำเนาโบราณฉบับภูเขาซีนาย (S อายุตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 4 เช่นกัน) สำเนาโบราณฉบับอเล็กซานเดรีย (A อายุตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 5) และสำเนาโบราณฉบับ C (Ephraemi rescriptus อายุตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 5) และยังพบได้อีกในสำเนาโบราณจำนวนหนึ่งซึ่งมีความสำคัญในอันดับรอง สำเนาโบราณฉบับดีที่สุดคือสำเนาโบราณฉบับวาติกัน (B) ซึ่งใช้เป็นต้นฉบับในการแปลสำนวนนี้ ตัวบทนี้มีชื่อเรียกจากนักวิชาการโดยทั่วไปว่า “Textus receptus” (หมายความว่า “ตัวบทที่ทุกคนยอมรับ”) ส่วนสำนวนแปลโบราณภาษาละตินที่ปรากฏในพระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับ Vulgata เป็นสำนวนแปลเก่าที่เรียกว่า “Itala” (ใช้อักษรย่อว่า Lat.) และนักบุญเยโรมไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขสำนวนแปลฉบับนี้ ทั้งนี้ก็เพราะท่านนักบุญองค์นี้ไม่ยอมรับหนังสือในสารบบที่สองนั่นเอง