ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือบุตรสิรา
(หรือ Ecclesiasticus)


(1)    หนังสือฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีก แต่ไม่อยู่ในสารบบพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู จึงเป็นหนังสือพระคัมภีร์ใน “สารบบที่สอง” ซึ่งพระศาสนจักรรับรอง  หนังสือนี้เคยเรียกกันว่า “Ecclesiasticus” (ละคำว่า “Liber” จึงแปลได้ว่า “หนังสือของพระศาสนจักร”) แต่เราเรียกหนังสือในฉบับแปลนี้ว่า “บุตรสิรา” (เพราะเหตุผลที่จะกล่าวในภายหลัง) หนังสือฉบับนี้แต่เดิมเขียนเป็นภาษาฮีบรู นักบุญเยโรมและธรรมาจารย์ชาวยิวหลายคน (ซึ่งอ้างถึงหนังสือฉบับนี้) รู้จักตัวบทเดิมภาษาฮีบรูของหนังสือ เมื่อปี ค.ศ. 1896 มีผู้ค้นพบราว 2 ใน 3 ของตัวบทภาษาฮีบรูนี้ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของสำเนาฉบับคัดลอกในสมัยกลาง ในห้องเก็บหนังสือพระคัมภีร์ที่ใช้ไม่ได้แล้ว (Geniza) ของศาลาธรรมแห่งหนึ่งที่กรุงไคโร หลังจากนั้นยังมีผู้ค้นพบชิ้นส่วนเล็กๆจำนวนหนึ่งของหนังสือนี้ในถ้ำที่กุมราน (Qumran) และในปี ค.ศ. 1964 ยังมีผู้ค้นพบตัวบทยาวพอใช้ (บสร 39:27 – 44:17) ที่ Massada ตัวบทเหล่านี้เขียนมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่หนึ่งก่อนคริสตกาล การที่พบว่ามีสำนวนแปลต่างๆไม่เหมือนกันของหนังสือนี้ และสำนวนแปลเหล่านี้ยังแตกต่างไปบ้างจากสำนวนแปลภาษากรีกและซีเรียคอีกด้วยเช่นนี้ แสดงว่าหนังสือฉบับนี้ได้รับการขัดเกลาสำนวนและใช้กันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยแรกๆแล้ว
    ตัวบทภาษากรีกเป็นตัวบทเดียวที่พระศาสนจักรรับรองว่าได้รับการดลใจ เราใช้ตัวบทนี้ในการแปล อันที่จริงตัวบทนี้ได้รับการคัดลอกไว้ในสำเนาโบราณสำคัญ 3 ฉบับ ได้แก่ฉบับภูเขาซีนาย (Codex Sinaiticus) ฉบับอเล็กซานเดรีย (Codex Alexandrinus) และฉบับวาติกัน (Codex Vaticanus) ตัวบทเหล่านี้โดยรวมแล้วก็เป็นตัวบทที่ใช้กันทั่วไป เรียกว่า “Textus receptus” (หรือ “ตัวบทที่ทุกคนยอมรับ”) ตัวบทนี้แตกต่างกันหลายแห่งกับตัวบทภาษาฮีบรู ซึ่งเราจะแจ้งไว้ในเชิงอรรถ
    ส่วนชื่อในภาษาละตินว่า “Ecclesiasticus (liber)” เป็นชื่อที่เกิดขึ้นในภายหลัง คือสมัยนักบุญซีเปรียน (กลางคริสตศตวรรษที่ 3) ชื่อนี้อาจมาจากการที่พระศาสนจักรยอมรับหนังสือฉบับนี้เป็นทางการ ในขณะที่ชาวยิวไม่ยอมรับ หนังสือนี้ในภาษากรีกได้ชื่อว่า “ปรีชาญาณของเยซูบุตรของสิรัค” (ดูข้อความใน บสร 51:30) และผู้เขียนยังออกนามตนเองใน 50:27 อีกด้วย ในปัจจุบันนี้เราเรียกหนังสือนี้ว่า “บุตรสิรา” (“Ben Sira” -- หรือ “Siracides” ซึ่งในภาษากรีกแปลว่า “บุตรของสิรัค”) ใน “คำนำ” (ข้อ 1-35) หลานปู่ของผู้เขียนเล่าว่าตนได้แปลหนังสือฉบับนี้เมื่อเขาเดินทางไปพำนักอยู่ที่ประเทศอียิปต์ในปีที่ 38 รัชกาลกษัตริย์ Euergetes (ข้อ 27) กษัตริย์พระองค์นี้มิใช่ใครอื่นนอกจากกษัตริย์โทเลมีที่ 7 Euergetes (แปลว่า “ผู้กระทำความดี”) ซึ่งครองราชย์ในช่วงเวลาปี 170-117 ก.ค.ศ. ดังนั้นปีที่เขากล่าวถึงจึงตรงกับปี 132 ก.ค.ศ. บุตรสิราผู้เขียน (ซึ่งเป็นปู่ของผู้แปล) จึงน่าจะมีชีวิตอยู่และเขียนหนังสือนี้ราว 60 ปีก่อนหน้านั้น คือราวปี 190-180 ก.ค.ศ. ข้อความตอนหนึ่งในหนังสือก็สนับสนุนความเห็นนี้ด้วย ใน บสร 50:1-21 บุตรสิรากล่าวสรรเสริญสิโมนมหาสมณะ คำชมนี้คงต้องมาจากความทรงจำของผู้เขียน มหาสมณะผู้นี้คือมหาสมณะสิโมนที่ 2 ซึ่งถึงแก่มรณภาพภายหลังปี 200 ก.ค.ศ.ไม่นาน
    ในช่วงเวลาที่กล่าวถึงนี้ ดินแดนปาเลสไตน์เพิ่งเข้ามาอยู่ใต้ปกครองของราชวงศ์เซเลวซิด (คือตั้งแต่ปี 198 ก.ค.ศ.) บรรดาผู้นำชาวยิวหลายคนในสมัยนั้นสนับสนุนการรับอารยธรรมกรีกในรูปแบบต่างๆเข้ามาในสังคม และหลังจากนั้นไม่นาน กษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส (175-164 ก.ค.ศ.) ก็ใช้กำลังบังคับให้ชาวยิวยอมรับอารยธรรมกรีก บุตรสิราเป็นคนหนึ่งที่พยายามใช้พลังทุกอย่างของธรรมประเพณีประจำชาติ ในการต่อต้านกระแสความนิยมใหม่ๆน่าอันตรายนี้ เขาเป็นธรรมาจารย์ที่แสวงหาปรีชาญาณ อีกทั้งยังมีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ เขามีความเลื่อมใสต่อพระวิหารและพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และเคารพนับถือตำแหน่งสมณะอย่างมาก หนังสือต่างๆในพระคัมภีร์ยังเป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตใจของเขาด้วย เขาจึงศึกษาคำสอนของบรรดาประกาศก และยิ่งกว่านั้นยังศึกษาข้อเขียนของบรรดาผู้มีปรีชาของอิสราเอลด้วย เพราะฉะนั้น เขาจึงพยายามสั่งสอนปรีชาญาณนี้ต่อไปแก่ทุกคนที่กระหายอยากศึกษาหาความรู้ดังกล่าวด้วย (ดู 33:18; 50:27 เทียบ ข้อ 7-14 ของ “คำนำ”)
    หนังสือ “บุตรสิรา” นี้มีรูปแบบเหมือนกับหนังสือประเภทปรีชาญาณที่ผู้มีปรีชาคนอื่นเคยเขียนไว้ก่อนหน้านั้น ยกเว้นข้อความถวายเกียรติสรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าที่แสดงออกในธรรมชาติ (42:15 – 43:33) และในประวัติศาสตร์ (44:1 – 50:29) หนังสือนี้มีเนื้อหาคล้ายกับในหนังสือสุภาษิตและหนังสือปัญญาจารย์ ซึ่งก็ไม่สู้จะมีระเบียบความคิดต่อเนื่องเป็นหมวดหมู่แต่ประการใด หนังสือนี้กล่าวถึงเรื่องต่างๆโดยไม่มีระเบียบความคิดต่อเนื่องกันนัก และมีการกล่าวซ้ำเรื่องเดียวกันอยู่บ่อยๆด้วย เรื่องราวแต่ละเรื่องถูกจัดไว้ในรูป “คำคม” “คำพังเพย” หรือ “สุภาษิต” เป็นกลุ่มๆที่ไม่มีความคิดต่อเนื่องกันเท่าใดนัก ตอนท้ายของหนังสือมีภาคผนวกอยู่ 2 ตอน คือ “บทเพลงขอบพระคุณพระเจ้า” ใน 51:1-12 และบทประพันธ์เรื่องการแสวงหาปรีชาญาณ ใน 51:13-30 มีผู้ค้นพบตัวบทภาษาฮีบรูของภาคสุดท้ายนี้ที่ถ้ำกุมราน (Qumran) แทรกอยู่ในเอกสารคัดลอกของหนังสือเพลงสดุดี จึงสรุปได้ว่าบทประพันธ์บทนี้แต่เดิมแยกอยู่ต่างหากก่อนที่บุตรสิราจะนำมาผนวกไว้ในหนังสือของตน
    คำสอนของหนังสือบุตรสิราเป็นคำสอนตามธรรมประเพณี เช่นเดียวกับรูปแบบของหนังสือปรีชาญาณ บุตรสิรายกย่องส่งเสริมว่าปรีชาญาณนี้มาจากพระเจ้า มีความยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นราก ปรีชาญาณนี้เสริมสร้างบุคลิกของเยาวชนและนำความสุขมาให้ บุตรสิรามีความเห็นยังไม่ชัดเจนเช่นเดียวกับโยบในเรื่องชะตากรรมของมนุษย์ รวมทั้งปัญหาเรื่องบำเหน็จรางวัลความดีความชั่วด้วย เขาเชื่อว่าพระเจ้าจะประทานรางวัลแก่คนดีและลงโทษคนชั่ว เขาเข้าใจดีว่าเวลาที่คนเราต้องตายนั้นมีความสำคัญมาก แต่เขาก็ยังไม่เห็นว่าพระเจ้าจะประทานรางวัลให้แต่ละคนได้อย่างไรตามที่การกระทำของเขาควรจะได้รับ  (ดู “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณ” ข้อ 3) ใน บสร 24:1-22 เมื่อกล่าวถึงธรรมชาติของพระปรีชาญาณของพระเจ้า บุตรสิรานำข้อความเกี่ยวกับปรีชาญาณในหนังสือสุภาษิตและหนังสือโยบมาพัฒนาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
    แต่ความคิดใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ของบุตรสิราโดยเฉพาะ และไม่เคยมีใครกล่าวมาก่อนก็คือ ความคิดที่ว่าพระปรีชาญาณก็คือธรรมบัญญัติของโมเสส (บสร 24:23-24; บารุคก็จะทำเช่นเดียวกันในบทประพันธ์ยกย่องปรีชาญาณใน บรค 3:9 – 4:4)  ความคิดที่บุตรสิรามีไม่เหมือนกับนักเขียนอื่นๆก่อนหน้านั้นก็คือ เขาให้ความสำคัญแก่ปรีชาญาณเหมือนกับให้ความเคารพนับถือต่อธรรมบัญญัติ  ยิ่งกว่านั้น เขาสอนว่าการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติคือการปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาอย่างละเอียดถี่ถ้วน (บสร 35:1-10) เขาจึงเป็นผู้สนับสนุนอย่างมั่นคงให้ทุกคนประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ด้วยความศรัทธา

(2)    ตรงข้ามกับบรรดาผู้มีปรีชาก่อนหน้านั้น บุตรสิราพิจารณาถึงประวัติศาตร์แห่งความรอดพ้นใน บสร 44:1 – 49:16 เขาพิจารณาถึงบุคคลสำคัญๆในพันธสัญญาเดิม ตั้งแต่เฮโนคมาจนถึงเนหะมีย์ คำตัดสินของเขาต่อบุคคลสามคนเป็นคำตัดสินที่รุนแรงไม่แพ้คำตัดสินของผู้เขียนประวัติศาสตร์ตามแนวหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ (Deuteronomic historians) ได้แก่คำตัดสินกษัตริย์ซาโลมอน (แม้จะทรงได้รับพระนามว่าเป็นแบบฉบับของผู้มีปรีชาทั้งหลาย) กษัตริย์เรโหโบอัมและเยโรโบอัม เขายังประณามบรรดากษัตริย์ทุกองค์เหมือนกันหมด นอกจากกษัตริย์ดาวิด เฮเซคียาห์และโยสิยาห์ แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังภูมิใจในอดีตของประชากรของตน และกล่าวยืดยาวเป็นพิเศษถึงบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ในพันธสัญญาเดิม และยังกล่าวถึงการอัศจรรย์ต่างๆที่พระเจ้าทรงใช้ผู้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เป็นเครื่องมือ เขาเล่าถึงการที่พระเจ้าทรงกระทำพันธสัญญากับโนอาห์ กับอับราฮัม กับยาโคบ กับโมเสส อาโรน ฟีเนหัส และกษัตริย์ดาวิด ซึ่งเป็นเสมือนผู้แทนของประชากรทั้งชาติ แต่พระองค์ยังประทานสิทธิพิเศษกับครอบครัวบางครอบครัว  โดยเฉพาะกับครอบครัวบรรดาสมณะ ทั้งนี้ก็เพราะบุตรสิราให้ความเคารพนับถืออย่างมากแก่บรรดาสมณะ เขากล่าวถึงอาโรนและฟีเนหัสในตำแหน่งต้นๆของบัญชีรายชื่อบรรพบุรุษ นอกจากนั้น คำยกย่องบรรพบุรุษของเขาจบลงด้วยคำสรรเสริญยืดยาวต่อสิโมน มหาสมณะซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น บุตรสิรามองย้อนอดีตที่รุ่งเรืองด้วยความเศร้าอยู่บ้าง เมื่อเขาคิดถึงสภาพปัจจุบัน เขาอธิษฐานอ้อนวอนเมื่อคิดถึงบรรดาผู้วินิจฉัยและประกาศก ขอให้ “กระดูกของท่านเหล่านี้ผลิดอกขึ้นมาอีกจากหลุมศพ” (46:12; 49:10) ขอให้ท่านเหล่านี้มีผู้สืบตำแหน่งต่อไป เขาเขียนหนังสือฉบับนี้ไม่นานนักก่อนที่พวกมัคคาบีจะเป็นกบฏต่อต้านราชวงศ์เซเลวซิด เขาอาจมีชีวิตอยู่จนได้เห็นจุดจบของการกบฎนี้และคิดว่าพระเจ้าได้ทรงฟังคำอธิษฐานของตนแล้ว

(3)    แม้ว่าบุตรสิราให้ความสำคัญแก่คำสอนเรื่องพันธสัญญาในประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นที่เขาเขียน แต่น่าจะเป็นความคิดถูกต้องด้วยว่าเขาไม่ได้มองไปข้างหน้าถึงการกอบกู้ที่พระเมสสิยาห์จะนำมาให้ จริงอยู่ที่คำอธิษฐานของเขาใน บสร 36:1-17 ทูลอ้อนวอนพระเจ้าให้ทรงระลึกถึงพันธสัญญาที่เคยทรงให้ไว้ ขอให้พระองค์ทรงสงสารกรุงเยรูซาเล็มและรวบรวมตระกูลต่างๆของยาโคบไว้ด้วยกัน ถึงกระนั้น การกล่าวทำนายถึงอนาคตแบบชาตินิยมเช่นนี้นับว่าไม่ธรรมดาสำหรับบุตรสิรา ดูเหมือนว่าเขาจะมีลักษณะของผู้มีปรีชาแท้จริงที่ยอมรับสภาพการณ์ปัจจุบันของเพื่อนร่วมชาติ ซึ่งแม้จะเป็นสภาพการณ์ความตกต่ำแต่ก็ยังมีสันติภาพ เขามั่นใจว่าการกอบกู้จะมาถึง แต่การกอบกู้นี้จะเป็นรางวัลตอบสนองความซื่อสัตย์ต่อธรรมบัญญัติ ไม่ใช่เป็นผลงานของพระเมสสิยาห์ผู้กอบกู้
    บุตรสิราเป็นผู้แทนคนสุดท้ายของผู้มีปรีชาชาวยิวในปาเลสไตน์ ซึ่งได้รับการดลใจจากพระเจ้า      เขาเป็นตัวอย่างเด่นชัดของพวก “ฮาสิดิม” (หรือ “ผู้เลื่อมใส”) ของศาสนายูดาย (ดู 1 มคบ 2:42 เชิงอรรถ i) ซึ่งไม่นานหลังจากนั้นจะเป็นผู้ปกป้องความเชื่อของชาวยิวต่อต้านการเบียดเบียนของกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส และจะรักษาผู้มีความเชื่อกลุ่มเล็กๆที่กระจัดกระจายอยู่ในอิสราเอล ในกลุ่มผู้มีความเชื่อเช่นนี้คำสอนของพระคริสตเจ้าจะหยั่งรากลงได้ในเวลาต่อมา แม้ว่าหนังสือบุตรสิรา (หรือ Ecclesiasticus) จะไม่ได้รับการยอมรับในสารบบพระคัมภีร์ของชาวยิว บรรดาธรรมาจารย์หลายคนก็อ้างถึงหนังสือนี้บ่อยๆในข้อเขียนของตน ในพันธสัญญาใหม่ จดหมายของยากอบยืมข้อความหลายตอนมาจากหนังสือฉบับนี้ พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิวกล่าวพาดพิงถึงหนังสือฉบับนี้หลายครั้ง และจนกระทั่งในปัจจุบัน พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ก็ยังสะท้อนธรรมประเพณีปรีชาญาณโบราณฉบับนี้อยู่