Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
1 มีนาคม
“เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ไม่มีใครเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า ถ้าเขาไม่เกิดจากน้ำและพระจิตเจ้า” (ยน 3:5)
ความสำคัญของศีลล้างบาป
บทไตร่ตรอง
พิธีกรรมในสัปดาห์แรกของเทศกาลมหาพรต มุ่งเน้นความสนใจเของเราที่ศีลล้างบาป เป็นช่วงเวลาที่บรรดาคริสตชนสำรอง หรือผู้ที่ยังไม่ได้รับศีลล้างบาปเตรียมตัวสู่การเข้าเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร ผ่านทางศีลล้างบาปในพิธีตื่นเฝ้าปัสกาคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ และบรรดาคาทอลิกจะรื้อฟื้นคำสัญญาแห่งศีลล้างบาปของตน ในพิธีบูชาขอบพระคุณ ในพิธีตื่นเฝ้าปัสกาคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์
การทำสำคัญมหากางเขนเมื่อจุ่มน้ำเสก เป็นการอวยพรตัวเราเอง และยังเตือนใจเราให้ระลึกถึงศีลล้างบาป ที่เราเคยได้รับอีกด้วย
วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 9:1-9)
เวลานั้น พระเยซูเจ้ายังตรัสแก่บรรดาศิษย์อีกว่า ‘เราบอกความจริงแก่ท่านว่า บางท่านที่ยืนอยู่ที่นี่จะไม่ลิ้มรสความตายจนกว่าจะเห็นพระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงพร้อมด้วยพระอานุภาพ’
ต่อมาอีกหกวัน พระเยซูเจ้าทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์นขึ้นไปบนภูเขาสูงตามลำพัง แล้วพระวรกายของพระองค์ก็เปลี่ยนไปต่อหน้าเขา ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวเจิดจ้า ขาวผ่องอย่างที่ไม่มีช่างซักฟอกคนใดในโลกสามารถทำให้ขาวเช่นนั้นได้ แล้วประกาศกเอลียาห์กับโมเสสสำแดงตนสนทนาอยู่กับพระเยซูเจ้า เปโตรจึงทูลพระเยซูเจ้าว่า ‘พระอาจารย์เจ้าข้า ที่นี่สบายน่าอยู่จริงๆ เราจงสร้างเพิงขึ้นสามหลังเถิด หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเสส อีกหลังหนึ่งสำหรับประกาศกเอลียาห์’ เขาไม่รู้ว่ากำลังพูดอะไรเพราะศิษย์ทั้งสามต่างตกใจกลัว ครั้นแล้วเมฆก้อนหนึ่งลอยลงมาปกคลุมเขาไว้ มีเสียงหนึ่งออกมาจากเมฆนั้นว่า ‘ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา จงฟังท่านเถิด’ ทันใดนั้น ศิษย์ทั้งสามเหลียวมองรอบๆ ไม่เห็นผู้ใดอยู่กับตนนอกจากพระเยซูเจ้าเท่านั้น
ขณะที่กำลังลงจากภูเขา พระองค์ตรัสสั่งเขามิให้เล่าเหตุการณ์ที่ได้เห็นให้ผู้ใดฟัง จนกว่าบุตรแห่งมนุษย์จะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย
มก 9:1-13 มีเพียงสาวกคนสนิทของพระคริสตเจ้าคือ เปโตร ยากอบ และยอห์น เท่านั้นที่ได้รับอภิสิทธิ์ได้เห็นการสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ ซึ่งแสดงถึงการสำเร็จอย่างสมบูรณ์ของบทบัญญัติ (โมเสส) และประกาศก (เอลียาห์) พระสุรเสียงของพระเจ้าพระบิดาเปิดเผยว่าพระคริสตเจ้าคือพระบุตรสุดที่รักของพระองค์ และบัญชาให้มีความใส่ใจในพระวาจาของพระองค์ พระวรสารตอนที่ระลึกถึงการรับพิธีล้างของพระเยซูเจ้าและการสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์เป็นการเปิดเผยถึงพระตรีเอกภาพ
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
28 กุมภาพันธ์
“พระเยซูเจ้าทรงเล่าอุปมาเรื่องหนึ่งแก่บรรดาศิษย์เพื่อสอนว่า จำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย” (ลก 18:1)
เวลาอธิษฐานภาวนาและเวลาทำงาน
บทไตร่ตรอง
จงสังเกตรูปแบบชีวิตของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงทำงานอย่างหนักทั้งในการเทศน์สอนและรักษาผู้ป่วย แต่ก็ยังเสด็จไปแต่ลำพังเพื่ออธิษฐานภาวนาจนเป็นกิจวัตร
ทุกคนที่ได้เจริญชีวิตติดตามรอยพระบาทของพระคริสตเจ้า ด้วยการพยายามปฏิบัติดีต่อผู้อื่น ก็เป็นการเลียนแบบอย่างของพระองค์แล้ว ในแต่ละวัน พวกเขายังหาเวลาเพื่ออธิษฐานภาวนา เช่นเดียวกับพระเยซูเจ้า
ข้อคิดข้อรำพึง
พระวาจาพระเจ้า ของอาทิตย์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต ปี B
“ศิษย์ทั้งสามเหลียวมองรอบๆ ไม่เห็นผู้ใดอยู่กับตนนอกจากพระเยซูเจ้าเท่านั้น”
นักบุญฟรังซิส แห่งอัสซีซี เป็นนักปฏิรูปศาสนาในสมัยศตวรรษที่ 13 ท่านเป็นผู้ก่อตั้งคณะนักบวชฟรังซิสกัน ท่านมีความรักต่อพระเยซูเจ้าอย่างลึกซึ้ง และต้องการจะเลียนแบบพระองค์อย่างครบถ้วน ทั้งชีวิตของท่านมุ่งมั่นปรารถนาแต่เพียงสิ่งเดียว คือให้ตัวท่านเองเป็นเหมือนพระเยซูเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นมนุษย์มากเท่าที่จะเป็นได้ ท่านปรารถนาจะทำทุกอย่างที่พระองค์ตรัสด้วยความนอบน้อม และทำตามพระองค์ในทุกกิจการที่ทรงทำ และท่านก็ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ด้วย คือท่านละม้ายเหมือนพระคริสตเจ้ามาก จนกระทั่งสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ในปี ค.ศ. 1962 เรียกนักบุญฟรังซิส อัสซีซีว่าเป็น “พระคริสตเจ้าอีกองค์หนึ่ง”
วันเสาร์สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 5:43-48)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “ท่านทั้งหลายได้ยินคำกล่าวว่า จงรักเพื่อนบ้าน จงเกลียดศัตรู แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า จงรักศัตรู จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน เพื่อท่านจะได้เป็นบุตรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ พระองค์โปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม ถ้าท่านรักแต่คนที่รักท่าน ท่านจะได้บำเหน็จรางวัลอะไรเล่า บรรดาคนเก็บภาษีมิได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ ถ้าท่านทักทายแต่พี่น้องของท่านเท่านั้น ท่านทำอะไรพิเศษเล่า คนต่างศาสนามิได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ ฉะนั้น ท่านจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่าน ทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด”
มธ 5:43-45 การติดตามพระคริสตเจ้าเรียกร้องให้รักเหมือนที่พระองค์ทรงรัก ให้อภัยผู้ที่ทำให้เราเจ็บปวดหรือทำผิดต่อเราไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม พระคริสตเจ้าทรงสิ้นพระชนม์เพราะความรักสำหรับทุกคนแม้ในขณะที่พวกเขายังเป็นคนบาปและเป็นศัตรู (เทียบ รม 5:10) คริสตชนต้องให้อภัยซึ่งกันและกันตามเงื่อนไขของการคืนดีกับพระเจ้า การให้อภัยทำให้บุคคลผู้นั้นคล้ายคลึงกับภาพลักษณ์ของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงรักเราโดยไม่มีเงื่อนไขและทรงเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่าความรักนั้นแข็งแกร่งกว่าบาป อิสรภาพแท้จริงที่ระบุไว้ในพระวรสารนั้นจะไม่สามารถทำประสบการณ์ได้ตราบใดที่ยังตกเป็นทาสของความขุ่นแค้นใจและความเกลียดชังผู้อื่น พระองค์โปรดให้ดวงอาทิตย์...คนชั่ว : เราสามารถพึ่งพาพระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้าพระบิดาของเราได้สำหรับทุกสิ่งที่เราต้องการ
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
27 กุมภาพันธ์
“อย่าล่วงประเวณี” (ฉธบ 5:18)
พรหมจารีและมรณสักขี
บทไตร่ตรอง
เมื่อมองในเชิงบวก พระบัญญัติประการนี้เร่งเร้าให้ดำเนินชีวิตอย่างบริสุทธิ์และถือพรหมจรรย์ พระศาสนจักรได้ให้ความเคารพอย่างสูงต่อการถือพรหมจรรย์ เหตุว่า การดำเนินชีวิตในรูปแบบเช่นนี้ มักมีผลต่อความเชื่อในพระเจ้าและและต่อชีวิตในโลกหน้า บางครั้ง เรียกร้องถึงขั้นพลีชีพทีเดียว
เราสามารถเข้าใจแนวคิดนี้ จากบทขอบพระคุณในพิธีบูชาขอบพระคุณของนักบุญพรหมจารีและนักบวช ที่ว่า ความรักของพระเจ้าเรียกร้องและเร่งเร้า ให้เราดำเนินชีวิตอย่างบริสุทธิ์ และเชื้อเชิญเราให้ลิ้มรสของขวัญแห่งโลกหน้าตั้งแต่ในโลกนี้แล้ว
วันศุกร์สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต
พระวรสารตามคำบอกเล่าชองนักบุญมัทธิว (มธ 5:20-26)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “เราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าความชอบธรรมของท่านไม่ดีไปกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีแล้วท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย
ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน ผู้ใดฆ่าคนจะต้องขึ้นศาล แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า ทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้อง จะต้องขึ้นศาล ผู้ใดกล่าวแก่พี่น้องว่า ‘ไอ้โง่’ ผู้นั้นจะต้องขึ้นศาลสูง ผู้ใดกล่าวแก่พี่น้องว่า ‘ไอ้โง่บัดซบ’ ผู้นั้นจะต้องถูกปรับโทษถึงไฟนรก ดังนั้น ขณะที่ท่านนำเครื่องบูชาไปถวายยังพระแท่น ถ้าระลึกได้ว่าพี่น้องของท่านมีข้อบาดหมางกับท่านแล้ว “จงวางเครื่องบูชาไว้หน้าพระแท่น กลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาถวายเครื่องบูชานั้น จงคืนดีกับคู่ความของท่านขณะที่กำลังเดินทางไปศาลด้วยกัน มิฉะนั้น คู่ความจะมอบท่านแก่ผู้พิพากษา และผู้พิพากษาจะมอบท่านให้ผู้คุม ซึ่งจะขังท่านในคุก เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ท่านจะออกจากคุกไม่ได้ จนกว่าท่านจะชำระหนี้จนเศษสตางค์สุดท้าย”
มธ 5:20 ทั้งบรรดาธรรมจารย์และชาวฟาริสีต่างก็รักษาบทบัญญัติแบบตามตัวอักษร แต่ไม่ได้รักษาจิตตารมณ์ของบทบัญญัตินั้น ซึ่งทั้งสองอย่างล้วนมีความจำเป็นสำหรับการรอดพ้น
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
26 กุมภาพันธ์
“อย่าล่วงประเวณี” (อพย 20:14)
ความเจ็บปวดจากความไม่ซื่อสัตย์
บทไตร่ตรอง
พระบัญญัติประการที่หกห้ามกระทำบาปผิดทางเพศทุกรูปแบบ ถือเป็นเรื่องที่เคร่งครัด แต่บาปที่หนักที่สุดคือ การผิดประเวณี เหตุว่าเข้าข่ายผิดต่อความยุติธรรม ความไม่ซื่อสัตย์หมายถึงการละเมิดคำสัญญาที่จะซื่อสัตย์ต่อกันจนตลอดชีวิต เป็นการสร้างความเจ็บปวดอย่างมหันต์ให้แก่คู่สมรส
ในภาพยนตร์ของ Grisham เรื่อง The Firm เล่าว่า เมื่อสามีที่ไม่ซื่อสัตย์ผู้หนึ่งได้ “สารภาพ” บาปผิดประเวณีของเขาต่อภรรยา ฉากได้จับภาพความเจ็บปวดอย่างลึกซึ้งและการไม่สามารถรับได้ของเธอ ถึงแม้ว่าการให้อภัยสามารถเยียวยารักษาบาดแผลนั้นได้ก็จริง แต่รอยแผลเป็นที่เกิดขึ้นก็ยังคงอยู่ตลอดไป
วันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 7:7-12)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ จงแสวงหาเถิด แล้วท่านจะพบ จงเคาะประตูเถิด แล้วเขาจะเปิดประตูรับท่าน เพราะคนที่ขอย่อมได้รับ คนที่แสวงหาย่อมพบ คนที่เคาะประตูย่อมมีผู้เปิดประตูให้ ท่านใดที่ลูกขออาหารแล้ว จะให้ก้อนหิน ถ้าลูกขอปลาท่านจะให้งูหรือ แม้แต่ท่านทั้งหลายที่เป็นคนชั่ว ยังรู้จักให้ของดีๆ แก่ลูก แล้วพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์จะไม่ประทานของดีๆ แก่ผู้ที่ทูลขอพระองค์มากกว่านั้นหรือ
ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด นี่คือธรรมบัญญัติและคำสอนของบรรดาประกาศก”
มธ 7:11 เราซึ่งเป็นบุตรธิดาของพระเจ้า สามารถสวดภาวนาด้วยความเชื่อและความไว้วางใจว่าพระบิดาจะตอบรับคำภาวนาของเรา พระเจ้าทรงทราบถึงความต้องการของเราก่อนที่เราจะภาวนาเสียอีก ถ้ามีสิ่งที่เราวอนขอแล้วยังไม่ได้รับ ให้เราไว้วางใจเถิดว่า พระเจ้าจะทรงประทานสิ่งที่เป็นผลดีมากกว่าให้แก่เราสำหรับความรอดพ้น
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
25 กุมภาพันธ์
“อย่าฆ่าคน” (ฉธบ 5:17)
เจริญชีวิตอย่างสมบูรณ์
บทไตร่ตรอง
ในโลกปัจจุบัน คนเรามีแนวโน้มที่จะอายุยืนยาวขึ้น และบ่อยครั้งก็ต้องเผชิญกับสุขภาพที่ทรุดโทรมทั้งของตนเองและของผู้อื่น จึงเกิดคำถามที่ว่า พระบัญญัติประการนี้เรียกร้องให้เราต้องดูแลรักษาตนเองในลักษณะใด
ธรรมเนียมประเพณีของพระศาสนจักรสอนว่า ท่านต้องใช้วิธีการแบบปกติธรรมดา ในการดูแลรักษาชีวิต โดยไม่ต้องเรียกร้องการใช้วิธีการพิเศษใดๆ
วันพุธสัปดาห์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 11:29-32)
เวลานั้น เมื่อประชาชนมาชุมนุมกันมากขึ้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “คนยุคนี้เป็นคนชั่วร้าย อยากเห็นเครื่องหมาย แต่จะไม่มีเครื่องหมายใดให้เห็นนอกจากเครื่องหมายของประกาศกโยนาห์เท่านั้น โยนาห์เป็นเครื่องหมายสำหรับชาวนีนะเวห์ฉันใด บุตรแห่งมนุษย์ก็จะเป็นเครื่องหมายสำหรับคนยุคนี้ฉันนั้น ในวันพิพากษา พระราชินีแห่งทิศใต้จะทรงลุกขึ้นและทรงกล่าวโทษคนยุคนี้ เพราะพระนางเสด็จมาจากสุดปลายแผ่นดิน เพื่อฟังพระปรีชาสุขุมของกษัตริย์ซาโลมอน แต่ที่นี่มีผู้ยิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์ซาโลมอนอีก ในวันพิพากษา ชาวนีนะเวห์จะลุกขึ้นและกล่าวโทษคนยุคนี้ เพราะชาวนีนะเวห์ได้กลับใจเมื่อได้ฟังคำเทศน์ของประกาศกโยนาห์ แต่ที่นี่มีผู้ยิ่งใหญ่กว่าโยนาห์อีก”
ลก 11:29-32 การกระทำอัศจรรย์นั้นเรียกร้องความเชื่อ ในขณะที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำอัศจรรย์สำหรับบรรดาผู้มีความเชื่อนั้น พระองค์ทรงปฏิเสธพวกช่างสงสัยและนักวิจารณ์ที่ต้องการท้าทายพระองค์เพียงเพราะต้องการ “เครื่องหมาย” เพื่อสนองความพึงพอใจของตนเองเท่านั้น “เครื่องหมายของประกาศกโยนาห์” กล่าวถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์เอง โดยโยนาห์ได้อยู่ในท้องปลาใหญ่เป็นเวลา 3 วันก่อนที่จะถูกพัดเข้าฝั่งที่เมืองนีนะเวห์ (เทียบ ยนา 3:1-5) ดังนั้นพระคริสตเจ้าก็เช่นกันจะทรงอยู่ในพระคูหาเป็นเวลา 3 วันก่อนที่จะทรงกลับคืนพระชนมชีพอีกครั้งหนึ่ง ส่วน “พระราชินีแห่งทิศใต้” คือพระราชินีแห่งเชบา ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่เสด็จมาหากษัตริย์ซาโลมอน และทรงประทับใจในพระปรีชาญาณของพระองค์ (เทียบ 1พกษ 10:1-13) ทั้งชาวนีนะเวห์และพระราชินีแห่งเชบาต่างก็เป็นตัวอย่างแห่งความเชื่อที่พระคริสตเจ้าทรงคาดหวังจากประชากรของพระองค์
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
24 กุมภาพันธ์
“อย่าฆ่าคน” (อพย 20:13)
คำสั่งให้รักษาชีวิต
บทไตร่ตรอง
พระบัญญัติประการที่ห้ามีมิติเชิงบวกเช่นเดียวกับประการอื่น กล่าวคือ ให้มีการปกป้องทารกในครรภ์ การเอาชนะความรุนแรงและการล่วงละเมิดในครอบครัว ตลอดจนการรับรองให้จบชีวิตตามธรรมชาติสำหรับผู้เจ็บป่วยใกล้ตาย
นอกจากนั้น คำสั่งนี้ยังเรียกร้องให้เราต้องดูแลตนเองด้วย คติพจน์หนึ่งของนักบุญเบเนดิกต์เตือนสอนว่า “ไม่ต้องมีสิ่งใดเกินไป” คือให้ทำทุกสิ่งด้วยความพอประมาณ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือการเล่น ก็ไม่ต้องให้มากหรือหนักจนเกินไป
วันอังคารสัปดาห์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 6:7-15)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า“เมื่อท่านอธิษฐานภาวนา จงอย่าพูดซ้ำเหมือนคนต่างศาสนา เขาคิดว่าถ้าเขาพูดมากพระเจ้าจะทรงสดับฟัง อย่าทำเหมือนเขาเลย เพราะพระบิดาของท่านทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการอะไร ก่อนที่ท่านจะขอเสียอีก ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงอธิษฐานภาวนาดังนี้
‘ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์
พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ
พระอาณาจักรจงมาถึง
พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดิน เหมือนในสวรรค์
โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้
โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า
เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น
โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การประจญ
แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ’
เพราะถ้าท่านให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ ก็จะประทานอภัยแก่ท่านด้วย แต่ถ้าท่านไม่ให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านก็จะไม่ประทานอภัยแก่ท่านเช่นเดียวกัน”
มธ 6:1-13 พระคริสตเจ้ามักจะพูดถึงการอดอาหาร การสวดภาวนาและการให้ทานว่าเป็นการปฏิบัติศาสนกิจที่น่ายกย่อง อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงสอนว่าการกระทำที่มองเห็นได้แต่ละอย่างเหล่านี้อาจกลายเป็นเรื่องหน้าไหว้หลังหลอกได้ หากไม่ได้ทำด้วยความรักของพระเจ้า ด้วยจิตแห่งการสำนึกผิดจากภายในและการกลับใจ
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
23 กุมภาพันธ์
“ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย ” (ยน 15:13)
ระลึกถึงนักบุญโปลีการ์ป
บทไตร่ตรอง
พระศาสนจักรมีความชื่นชมอย่างใหญ่หลวงอยู่เสมอต่อบรรดามรณสักขี ผู้สละชีวิตของตนเพื่อรักษาความเชื่อไว้ นักบุญโปลีการ์ปเป็นบิชอปของเมืองสมีร์นา ในแถบอิซมีร์ใหม่ ประเทศตุรกี ได้ทำงานเป็นเวลาหลายปีในช่วงต้นศตวรรษที่สอง ที่สุดใน ค.ศ. 156 ท่านต้องได้รับทนทุกข์ทรมานและสิ้นชีวิตเป็นมรณสักขี ด้วยอายุ 86 ปี
ท่านถูกนำไปยังสนามกีฬาที่เต็มด้วยผู้คน เพื่อถูกเผาไฟทั้งเป็น แต่ไฟนั้นไม่อาจทำอะไรท่านได้ จนในที่สุดเพชรฆาตก็ต้องประหารท่านด้วยกริช
แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
122/8 อาคารแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ซ.นนทรี 14 ถ.นนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
โทร. 095-953-3070, 02-681-3850 Email: ccbkk@catholic.or.th Line_ID: kamsonbkk