แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

DSCN0783

 

ทูตสวรรค์ คือ จิตที่ไม่มีวันดับสูญซึ่งพระเจ้าทรงสร้างขึ้น ทูตสวรรค์ หรือ Angel มาจากคําในภาษากรีก Angelos ซึ่งหมายถึง “ผู้ส่งสาร” มีหน้าที่หลักคือนมัสการพระเจ้าและประกาศพระวาจาของพระองค์แก่มนุษย์ ทูตสวรรค์ปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ตั้งแต่แรกเริ่ม ทูตสวรรค์เครูบิมคือผู้ที่ปิดประตูสวนเอเดนไม่ให้อาดัมและเอวาเข้าไป (เทียบ ปฐมกาล 3:24) ทูตสวรรค์กาเบรียลคือผู้ที่แจ้งสารเรื่องการบังเกิดของพระเยซูเจ้าแก่พระนางมารีย์ (เทียบ ลูกา 1:26) เราเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนมีทูตสวรรค์ประจําตัว เพื่อแนะนําและปกป้อง ดังเช่นที่พระคัมภีร์กล่าวว่า “เพราะ พระองค์ทรงบัญชาบรรดาทูตสวรรค์ไว้แล้ว ให้พิทักษ์รักษาท่าน ไม่ว่าท่านจะไปทางไหน” (สดุดี 91:11) 

 

นามของทูตสวรรค์

คําว่า “Angel” มาจากคําว่า Angelus ในภาษาละติน ซึ่งแปลมาจาก Angelos ในภาษากรีก หมายถึง “ผู้ส่ง สาร” เนื่องจากทูตสวรรค์เป็นผู้รับสารจากพระเจ้า ในภาษาฮีบรูตรงกับคําว่า Malak ซึ่งสื่อถึงหน้าที่ทูต ไม่มีการระบุชื่อทูตสวรรค์แต่ละองค์ที่สรรเสริญพระเจ้าอยู่บนสวรรค์ แต่ก็มีชื่อเรียกทูตสวรรค์ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจบางประการบนโลก เช่น ราฟาแอล หมายถึง “โอสถของพระเจ้า” เนื่องจากมีหน้าที่รักษาความเจ็บป่วยทางใจและกายของมนุษย์ กาเบรียล หมายถึง “พละกําลังของพระเจ้า” เพราะมีหน้าที่ประกาศพระฤทธานุภาพของพระเจ้า 

 

กําเนิดของทูตสวรรค์

ทูตสวรรค์เป็นจิตที่ไม่มีวันดับสลายซึ่งพระเจ้าทรงสร้างไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม แม้พระองค์จะทรงโปรดให้เปี่ยมด้วยพละกําลังและปรีชาญาณ ทูตสวรรค์ก็ได้รับบัญชาให้มารับใช้มนุษย์ผู้รู้ตายและมีขีดจํากัด ซึ่งพระเจ้าทรงสร้างขึ้นตามพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ ดังที่มีเขียนไว้ว่า “ทูตสวรรค์ทั้งหลายเป็นเพียงจิตที่มีหน้าที่รับใช้พระเจ้า พระองค์ทรงส่งมารับใช้ผู้ที่จะต้องได้รับความรอดพ้นมิใช่หรือ” (ฮีบรู 114) พระคัมภีร์มิได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าทูตสวรรค์กําเนิดขึ้นเมื่อใด นักบุญอัมโบรสสันนิษฐานว่าพระเจ้าทรงสร้างทูตสวรรค์ก่อนที่จะทรงสร้างจักรวาล นักบุญออกัสตินคิดว่าพระเจ้าทรงสร้างทูตสวรรค์ในวันที่หนึ่ง พร้อมกับที่พระองค์ทรงสร้างแสงสว่าง ส่วนเทเทียนจัดให้ทูตสวรรค์อยู่ในวันที่หก ก่อนที่พระเจ้าจะทรงสร้างมนุษย์ขึ้น 

 

นิกรทูตสวรรค์

ทูตสวรรค์ถูกจัดเป็นสามชั้น เก้านิกร 

ชั้นที่ 1 

นิกรที่ 9 เสราฟ เป็นผู้รับใช้พระเจ้า ณ พระราชบัลลังก์ เป็นผู้ขับเพลง “ศักดิ์สิทธิ์”

นิกรที่ 8 เครูบ เป็นผู้พิทักษ์ต้นไม้แห่งชีวิตและพระราชบัลลังก์

นิกรที่ 7 โธรเนส เป็นผู้ทูลเสนอคําภาวนาของมนุษย์ต่อพระเจ้า 

 

ชั้นที่ 2 

นิกรที่ 6 โดมิเนียน เป็นผู้จัดหาสิ่งที่จําเป็นสําหรับมนุษย์

นิกรที่ 5 เวอชู เป็นผู้ทําให้พระประสงค์ของพระเจ้าสําเร็จด้วยอัศจรรย์และเครื่องหมายต่างๆ

นิกรที่ 4 เพาเวอร์ เป็นผู้ปราบปีศาจ รักษาสมดุลในจักรวาล 

 

ชั้นที่ 3 

นิกรที่ 3 พรินซิเพาลิติ เป็นผู้ปกป้องประเทศชาติต่างๆ

นิกรที่ 2 อัครทูตสวรรค์ เป็นผู้ประกาศธรรมล้ำลึกต่างๆ ของพระเจ้า

นิกรที่ 1 ทูตสวรรค์ เป็นผู้ประกาศสารของพระเจ้า ดูแล และปกป้องมนุษย์แต่ละคน 

 

เสราฟ เป็นนิกรชั้นสูงสุด ได้รับแต่งตั้งให้ปรนนิบัติพระเจ้า ณ พระบัลลังก์ มี 6 ปีก ใช้ปิดหน้า 2 ปีก มิให้เห็นพระสิริอันเป็นนิรันดร์ของพระเจ้าที่พระองค์ทรงสงวนไว้ อีก 2 ปีกใช้ปิดเท้าซึ่งหมายถึงส่วนลับ และอีกสองปีกใช้สําหรับบิน (เทียบ อิสยาห์ 6:1-2) แต่ละตนเคลื่อนไปรอบๆ พระบัลลังก์พลางร้องสรรเสริญพระเจ้าว่า “ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์” เพลงที่เสราฟขับร้อง หรือซังตุส คือเพลงที่ใช้ในมิสซาเพื่อประกาศยืนยันว่าพระเจ้าทรงประทับอยู่อย่างแท้จริงในรูปปรากฏศีลมหาสนิท

เครูบ มี 4 ปีก อยู่ในนิกรที่ 8 มีใบหน้าสี่ด้าน ได้แก่ ใบหน้ามนุษย์ ใบหน้านกอินทรี ใบหน้าโคเพศผู้ และ ใบหน้านกอินทรี ซึ่งคริสตชนได้นํามาใช้เป็นสัญลักษณ์ผู้นิพนธ์พระวรสาร คือ มัทธิว มาระโก ลูกา และยอห์น ตามลําดับ หน้าที่หลักของเครูบคือเฝ้าประตูสวรรค์ (เทียบ ปฐมกาล 3:24) รับใช้พระเจ้า ณ พระบัลลังก์ และปรากฏอยู่ ในการแสดงพระองค์ (เทียบ อิสยาห์ 37:16) เครูบยังมีหน้าที่ดูแลหีบพันธสัญญาด้วย (เทียบ อพยพ 25:22)

โธรเนส หน้าที่หลักของทูตสวรรค์นิกรที่ 7 คือ แบกพระบัลลังก์พระเจ้า มีชื่อในภาษาฮีบรูว่า Ophanim แปลว่า ล้อ เนื่องจากต้องแบกราชรถที่พระเจ้าประทับอยู่ตลอดเวลา (เทียบ ดาเนียล 7:9) นักบุญเปาโลได้ยืนยันว่าโธรเนสมีอยู่จริง (เทียบ โคโลสี 1:16) โธรเนสปรากฏอยู่ในรูปทูตสวรรค์ สูงด้วยวัยวุฒิ มีผมสีขาวราวหิมะ เป็นสัญลักษณ์ของปรีชาญาณ นั่งอยู่บนบัลลังก์ เป็นเครื่องหมายของความยุติธรรมและพระราชอํานาจของพระเจ้า บัลลังก์นี้เคลื่อนไปด้วยล้อที่ประกอบดวงตาจํานวนมากมาย อันแสดงถึงความรอบรู้และการประทับอยู่ในทุกหนแห่งของพระเจ้า (เทียบ เอเสเคียล 1:15-21)

โดมิเนียน ทูตสวรรค์นิกรที่ 6 ชื่อใน ภาษาฮีบรู คือ Hashmalim แปลว่า ไฟแลบแปลบปลาบ และ Kyriotetes ในภาษากรีก ซึ่งแปลว่า ผู้ปกครอง นักบุญเปาโลก็ได้ยืนยันถึงข้อเท็จจริงนี้ (เทียบ โคโลสี 1:16) โดมิเนียนควบคุมดูแลทูตสวรรค์ในชั้นรองลงมาให้อยู่ในระเบียบวินัย มีปีก 2 ปีก ดูคล้ายมนุษย์ที่งดงาม ราวเทพเจ้า มักจะถือคทาเพื่อแสดงถึงอํานาจ หรือดาบเพื่อแสดงถึงระเบียบวินัย อีกทั้งยังเป็นผู้นํากองทัพแห่งสวรรค์ เมื่อพระคริสตเจ้าจะเสด็จมาเป็นครั้งที่สองด้วย (เทียบ วิวรณ์ 19:14)

เวอชู เป็นทูตสวรรค์ที่เปี่ยมด้วยพลัง อยู่ในนิกรที่ 5 ในภาษากรีกมีชื่อเรียกว่า Dynameis ซึ่งหมายถึง พละกําลัง (เทียบ เอเฟซัส 1:20-21) เป็นภาพลักษณ์ของพระมหิทธานุภาพของพระเจ้าและพระคุณธรรมที่ไม่มีวันผันแปรของพระองค์ มีหน้าที่ทําให้แผนการของพระเจ้าในโลกนี้สําเร็จไป อาศัยการทําอัศจรรย์ต่างๆ

เพาเวอร์ เป็นทูตสวรรค์ผู้เป็นนักสู้ อยู่ในนิกรที่ 4 หน้าที่หลักคือปราบซาตานและลูกสมุนของมัน ควบคุมอํานาจชั่วร้ายในโลก และได้รับมอบหมายให้แจกจ่ายพละกําลังแก่มนุษย์ เพื่อให้ความยุติธรรมและสันติยังคงอยู่ได้

พรินซิเพาลิติ เป็นผู้ปกครอง อยู่ในนิกรที่ 3 (เทียบ เอเฟซัส 1:20-21) สวมมงกุฎและถือคทา หมายถึงการ มีอํานาจเหนือทูตสวรรค์ในลําดับรองลงมา มีหน้าที่ปกป้อง นําทางประเทศชาติและสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะพระศาสนจักร หน้าที่ต่อมาคือโน้มนําพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และกาลเวลาเพื่อให้แผนการณ์ของพระเจ้าสําเร็จลุล่วงไป ดลใจมนุษย์ทางการศึกษา วิทยาศาสตร์และศิลปะ ช่วยมนุษย์ให้มีพัฒนาการทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ และเตรียมมนุษย์ให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสตเจ้า (Parousia)

อัครทูตสวรรค์ ประกอบด้วยหัวหน้าทูตสวรรค์ 7 องค์ ผู้ประกาศธรรมล้ำลึกของพระเจ้า (เทียบ วิวรณ์ 8.2) แต่มีเพียง 3 องค์เท่านั้นที่มีระบุชื่อในพระคัมภีร์

ba tong than

มีคาแอล ซึ่งแปลว่า ใครจะเหมือน พระเจ้า ได้รับมอบหมายให้ขับไล่ลูซิแฟร์ ที่ท้าทายอํานาจพระเจ้าออกไปจากสวรรค์

กาเบรียล พลังของพระเจ้า มีภารกิจ ในการประกาศพลานุภาพของพระเจ้า (เทียบ ลูกา 1:37)

ราฟาแอล โอสถของพระเจ้า ได้รับแต่งตั้งให้รักษาความเจ็บป่วยทางกายและทางใจ ราฟาแอลถูกส่งให้ไปนําการเดินทางของโทบียาห์และได้รักษาโทบิตผู้เป็นบิดา ให้หายจากตาบอด (เทียบ โทบิต 12:14)

 

ทูตสวรรค์ทั่วไป เป็นทูตสวรรค์ในนิกรที่ 1 ในภาษาฮีบรูเรียกว่า Malakhim เป็นจิตที่ทําหน้าที่ในกิจการทั่วไป ได้แก่ 

1. นมัสการพระเจ้า (เทียบ วิวรณ์ 5:11-13) 

2. ประกาศพระวาจาพระเจ้า เช่น ประกาศการบังเกิดของพระเยซูเจ้าที่เมืองเบธเลเฮม (เทียบ ลูกา 2:10) 

3. อารักขามนุษย์ มนุษย์ทุกคนมีอารักขเทวดาอยู่ข้างๆ คอยชี้นําให้ทําสิ่งที่ถูกต้อง ปกป้องให้พ้นอันตราย และทูลเสนอต่อพระเจ้าในนามของเขา ดังที่มีเขียนไว้ว่า “เพราะพระองค์ทรงบัญชาบรรดาทูตสวรรค์ไว้แล้ว ให้พิทักษ์ รักษาท่าน ไม่ว่าท่านจะไปทางไหน” (สดุดี 91:11)

 

ที่มา: นิตยสารแม่พระยุคใหม่ หน้า 2-4 ฉบับที่ 239 ปีที่ 40 กันยายน- ตุลาคม 2021