แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

6 สิงหาคม

ฉลองพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระวรกายรุ่งโรจน์ต่อหน้าอัครสาวก

(Transfiguration of the Lord, feast.)

Transfiguration 4

ในขณะที่พระเยซูเจ้าทรงดำรงพระชนมชีพท่ามกลางบรรดาอัครสาวกของพระองค์  พระองค์ได้ตรัสกับพวกเขาถึงอาณาจักรของพระองค์  และการเสด็จมาครั้งที่สองในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์อยู่บ่อยครั้ง (= the "parousia"  ในห้วงเวลาสุดท้าย)  แต่ว่า ราวหนึ่งปีก่อนจะทรงรับทนทรมาน  พระองค์ทรงสำแดงให้พวกเขาได้เห็นภาพนิมิตที่มหัศจรรย์  อันจะเป็นประสบการณ์ที่ตระเตรียมพวกเขาให้เข้าใจดีขึ้นถึงสิ่งที่กำลังจะมาถึง  เพื่อให้ความเชื่อของพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องพระอาณาจักรและพระสิริรุ่งโรจน์ของอาณาจักรนั้นเข้มแข็งมากขึ้น

 

พระองค์ทรงนำอัครสาวกสามคนผู้อยู่ใกล้ชิด  คือ เปโตร ยากอบ และยอห์น  ขึ้นไปบนภูเขาสูง - เชื่อกันว่าคือภูเขาทาบอร์ในแคว้นกาลิลี  ซึ่งอยู่สูงเหนือทะเลสาบทิเบเรียสราว 2,000 ฟุต  ณ ที่นั้นพวกเขาได้เห็นพระวรกายของพระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงไปโดยฉับพลัน  ลักษณะของพระพักตร์ส่องแสงประกายดุจดวงอาทิตย์  และฉลองพระองค์มีสีขาวเจิดจ้า  ทันใดนั้น บุรุษสองคน คือโมเสส และประกาศกเอลียาห์มาสนทนากับพระองค์  ซึ่งหมายถึงความหมายที่สำคัญว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ทำให้กฎหมายต่างๆของโมเสสครบสมบูรณ์  และข้อความทำนายต่างๆ ของบรรดาประกาศกที่มีประกาศกเอลียาห์เป็นตัวแทนนั้นบรรลุถึงความจริงทุกประการ

 

การสำแดงพระวรกายรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ไม่เพียงเป็นการไขแสดงให้เห็นขั้นต้นว่า  ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่ผู้คนเฝ้ารอคอยมาแต่ยาวนาน  แต่ทำให้ตระหนักถึงความจริงด้วยว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรสุดที่รักและเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้าพระบิดา  สำหรับ เปโตร ยากอบ และยอห์นนั้น  เป็นการชิมลางล่วงหน้าถึงแก่นแท้ของการไถ่ให้รอดของพระองค์  ซึ่งอธิบายตนเองออกมาในเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพ  ว่าอยู่บนพื้นฐานของการรับทนทรมาน และการสิ้นพระชนม์นั่นเอง  จริงๆแล้วการสำแดงพระวรกายรุ่งโรจน์เป็นภาพที่มาก่อนให้เรามองเห็นการประทับบนบัลลังก์ตลอดนิรันดร์ของพระคริสต์  สิริรุ่งโรจน์ข้อนี้เองที่พระศาสนจักรทำการฉลองในวันนี้

 

กำหนดวันฉลองนี้เราไม่รู้แน่ๆว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร  ที่รับรู้กันก็คือมีการฉลองวันนี้ในกรุงเยรูซาเล็มเมื่อต้นศตวรรษที่ 7  และในจักรวรรดิไบเซนไทน์เมื่อศตวรรษที่ 9  ส่วนในพระศาสนจักรออร์โธด๊อกซ์ก็ถือว่าวันฉลองนี้มีความสำคัญมากเสมอมา  สำหรับพวกซีเรียนและอาร์เมเนียนเฉลิมฉลองถึงสามวัน นับจากวันอาทิตย์ที่เจ็ดหลังวันสมโภชพระจิตเจ้า  โดยมีการจำศีลอดอาหารหกวันก่อนหน้านั้น  ในพระศาสนจักรตะวันตกพบหลักฐานกล่าวถึงวันฉลองนี้ในข้อเขียนราวศตวรรษที่ 9  แต่การถือวันฉลองนี้ก็ค่อยๆ แพร่หลายไปทั่วทั้งพระศาสนจักรในเวลาต่อๆมา  พระสันตะปาปากัลลิสตุสที่สาม (Pope Callistus III)  ได้กำหนดวันฉลองให้เป็นที่วันที่ 6 สิงหาคม  เพื่อระลึกถึงวันที่มีชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ต่อพวกเติร์ก (Turks) ที่กรุงเบลเกรด  ในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1456

 

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา  หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ  J.K. Mausolfe)

Transfiguration 1Transfiguration 2Transfiguration 5Transfiguration 3