แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

25 เมษายน

ฉลองนักบุญมาระโก  ผู้นิพนธ์พระวรสาร

(St. Mark, Evangelist, feast)

St. Mark 1

 มีความเห็นพ้องต้องกันโดยทั่วไปว่า ชื่อของ มาระโก ที่มีกล่าวไว้ในหนังสือกิจการอัครสาวก [ชาวยิวและคนตะวันออกโดยทั่วไปมักจะมีอีกชื่อหนึ่งที่นิยมกันในสังคมกรีก โรมัน  เช่น ยอห์น มีอีกชื่อหนึ่งว่า "มาระโก" (กจ 12:12 ยังมีชื่อ ยอห์น มาระโก ถูกกล่าวถึงอีกใน  กจ 12:25;  13:5,13;  15:37, 39)] เป็นคนๆเดียวกับ มาระโก ที่นักบุญเปโตรได้อ้างถึงในจดหมายฉบับแรกของท่าน "...มาระโก บุตรของข้าพเจ้าก็ฝากความคิดถึงท่านด้วย" (1 ปต 5:13) และเป็นคนเดียวกับที่นักบุญเปาโลก็อ้างถึงในจดหมายของท่าน 3 ครั้งด้วยกัน  "อาริสทารคัสซึ่งถูกจองจำพร้อมกับข้าพเจ้า  และมาระโกลูกพี่ลูกน้องของบารนาบัส  ขอฝากความคิดถึงท่านทั้งหลาย  ข้าพเจ้าเคยกำชับท่านเรื่องมาระโกแล้ว  ถ้าเขามา  ก็จงต้อนรับเขาอย่างดี" (คส 4:10) และ "เหลือเพียงลูกาที่ยังอยู่กับข้าพเจ้า  จงพามาระโกไปกับท่านด้วย  เพราะเขามีประโยชน์สำหรับข้าพเจ้าในการปฏิบัติศาสนบริการ"  (2 ทธ 4:11)  และสุดท้าย  "รวมทั้งผู้ร่วมงานทุกคน คือ มาระโก..." (ฟม 24)

 นักบุญมาระโกเป็นบุตรชายของมารีย์  สมาชิกผู้โดดเด่นคนหนึ่งของกลุ่มคริสตชนที่กรุงเยรูซาเล็ม  และเธอเป็นเพื่อนเก่าของนักบุญเปโตร  บ้านของเธอมักเป็นที่จัดให้มาประชุมกันบ่อยๆ  เราได้ยินชื่อของมาระโกเป็นครั้งแรกเมื่อนักบุญเปาโลกับบารนาบัสได้พาเขาไปที่เมืองอันทิโอกด้วยในปี ค.ศ. 46 และได้ร่วมเดินทางแพร่ธรรมครั้งแรกไปที่เกาะไซปรัส  จากที่นี่มาระโกแยกตัวจากนักบุญเปาโลและบารนาบัสโดยเดินทางกลับไปกรุงเยรูซาเล็ม เพราะอาจจะไม่เห็นพ้องต้องกันในบางเรื่อง

St. Mark 2

 นักบุญเปาโลไม่ยอมให้มาระโกร่วมเดินทางไปด้วยในการเดินทางแพร่ธรรมครั้งที่สอง  ด้วยเหตุนี้ทำให้บารนาบัสเองก็แยกตัวออกไปจากนักบุญเปาโลด้วย  โดยนักบุญเปาโลก็ไปตามทางของตัวเอง  ส่วนบารนาบัสและมาระโกได้ไปที่เกาะไซปรัสอีกครั้งหนึ่ง  แต่หลังจากนั้นไม่นานนักบุญเปาโลกับมาระโกก็แก้ปัญหาข้อขัดแย้งได้  และกลับมาเป็นเพื่อนกันอีกครั้ง  ในราวปี ค.ศ. 60 มาระโกอยู่ที่กรุงโรมกับนักบุญเปาโล อัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่ และท่านกำลังเตรียมตัวจะกลับไปยังพระศาสนจักรต่างๆ ในอาเซียน้อย (= Asia Minor) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นที่พักชั่วคราวตลอดเวลาการทำงานแพร่ธรรมของท่าน  ดูเหมือนว่าท่านได้ประกาศพระวรสารในเขต Aquileia ที่อยู่ตอนบนสุดของทะเลอาเดรียติกด้วย   ที่นี่มีประชากรที่อพยพมาอยู่สักประมาณ 400 ปี  ภายหลังการรุกรานของพวกฮั่น (Attila) โดยที่พวกเขาได้พบ Lagoon (= ทะเลสาบใกล้ฝั่งทะเล  ซึ่งมีทางติดต่อกับทะเลได้)  ที่มีชื่อเสียง คือ ที่ตั้งของเมืองเวนิสนั่นเอง  มาระโกได้ชื่อว่าเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองนี้  พระธาตุของท่านได้ถูกขโมยมาจากเมืองอเล็กซานเดรีย  ประเทศอียิปต์ โดยพวกทหารของเมืองเวนิสในปี ค.ศ. 815 และนำมาไว้ในเมืองเวนิสตั้งแต่นั้นมา  โดยวางไว้ใต้พระแท่นกลางของบาสิลิกาที่สง่างามตั้งชื่อตามชื่อของท่าน

 

 ดูเหมือนว่า มาระโกได้เดินทางจาก Aquileia ไปที่อียิปต์  และได้ตั้งสำนักแห่งอเล็กซานเดรียขึ้นในปี ค.ศ.61  นักบุญเปาโลได้เขียนจดหมายถึงทิโมธีที่เมืองเอเฟซัส  ได้ขอให้เขาพามาระโกไปกับเขาที่กรุงโรม  และในขณะที่มาระโกได้อยู่ที่อมตนครแห่งนี้ (= กรุงโรม) ท่านได้นิพนธ์เรื่องราวของพระวรสารอย่างละเอียดชัดเจนโดยบันทึกอย่างซื่อสัตย์จากคำสอนปากเปล่าที่มาจากนักบุญเปโตร  ซึ่งดูเหมือนว่าท่านได้ทำงานเป็นเลขาฯ และผู้แปลความให้กับนักบุญเปโตร  ธรรมประเพณีโบราณได้กล่าวอ้างว่า พระวรสารของท่านได้เขียนตามคำขอของคริสตชนชาวโรมัน  ฉบับดั้งเดิมเขียนเป็นภาษากรีก  นักบุญมาระโกยังเป็นองค์อุปถัมภ์ของพวกพนักงานเขียนเอกสาร  และถูกวอนขอความช่วยเหลือในกรณีฟ้าร้องและลูกเห็บตก

 

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา  หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ  J.K. Mausolfe)

St. Mark 3St. Mark 4St. Mark 5St. Mark 6