แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด  กฤษบำรุง
พระสงฆ์และมรณสักขี
ค.ศ. 1895-1944
(ฉลอง 12  มกราคม)

 nico14    เกิดเมื่อวันที่ 31  มกราคม  ค.ศ. 1895 และรับศีลล้างบาปวันที่ 5  กุมภาพันธ์  ค.ศ. 1895 ที่วัดนักบุญเปโตร สามพราน นครปฐม และรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์โดยพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส วันที่ 24  มกราคม  ค.ศ. 1926  ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก กรุงเทพฯ
    ท่านทำงานอภิบาลที่วัดหลายแห่ง นั่นคือ วัดแม่พระบังเกิด บางนกแขวก, วัดเซนต์นิโคลาส พิษณุโลก, วัดในเขตเชียงใหม่ และลำปาง, วัดแม่พระเมืองลูร์ด โคราช และวัดนักบุญเทเรซา โนนแก้ว

ท่านถูกจับในวันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์  ขณะที่ประกอบศาสนกิจที่วัดนักบุญโยเซฟ บ้านหัน เมื่อวันที่ 12  มกราคม  ค.ศ. 1941 ในข้อหาเป็นแนวที่ 5 ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี ระหว่างอยู่ในคุกที่เรือนจำกลางบางขวางเป็นปีที่สาม ท่านได้ป่วยเป็นวัณโรคเป็นเวลา 9 เดือน และถึงแก่มรณภาพในคุกนั้นเองเมื่อวันที่ 12  มกราคม  ค.ศ. 1944 รวมอายุ 49 ปี ศพของท่านถูกนำไปฝังไว้ที่วัดบางแพรก ซึ่งเป็นวัดพุทธที่อยู่ใกล้เรือนจำ หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม พระสังฆราชแปร์รอสจึงได้รับอนุญาตให้นำศพของท่านมาฝังที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก กรุงเทพฯ
    ท่านเป็นพระสงฆ์ที่เอาใจใส่งานอภิบาล มีใจเมตตาต่อคนยากจน และมีความกระตือรือร้นในงานธรรมทูต ระหว่างที่อยู่ในคุก ท่านได้เขียนจดหมายถึงพระสังฆราชแปร์รอสบอกสิ่งที่ทำให้ท่านมีความอดทนก็คือ การสวดภาวนา สวดสายประคำ และสวดมนต์ตามหนังสือที่พระสงฆ์ต้องสวด ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาแต่ก็ขอน้อมรับโทษอันนี้ตามน้ำพระทัยของพระ “…ลูกรู้สึกว่า พระเจ้าทรงดลบันดาลให้เป็นไปเช่นนี้ ลูกจึงขอน้อมรับโทษทัณฑ์อันนี้ตามน้ำพระทัยของพระ เพื่อชดเชยความผิดบาปของลูก และเพื่อสันติภาพของสากลโลก ทั้งความเจริญของประเทศชาติที่รักของลูกด้วย ลูกสวดเสมอ ขอพระเอ็นดูยกความผิดของพยานเท็จที่ปรักปรำลูก ตามฉบับแบบแห่งพระเยซู อาจารย์แห่งสากลโลก…”
    สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ประกาศรับรองความศักดิ์สิทธิ์ของท่านเมื่อวันที่ 27  มกราคม  ค.ศ. 2000 และประกอบพิธีสถาปนาเป็นบุญราศีมรณสักขีวันที่ 5  มีนาคม  ค.ศ. 2000 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม ประเทศอิตาลี พร้อมกับบุญราศีอื่นอีก 4 ประเทศคือ
1.    คุณพ่ออันเดร โซเวรัล และคุณพ่ออัมโบรซิโอ ฟรังซิสโก แฟร์โร พร้อมกับคริสตชนอีก 28 ท่าน เป็นมรณสักขีจากประเทศบราซิล
2.    ซิสเตอร์มารีอา สเตลลา มาร์โดเซวิช และคณะซิสเตอร์อีก 10 ท่าน ประเทศโปแลนด์
3.    มรณสักขี เปโตร คาลุงซอด ครูคำสอนชาวฟิลิปปินส์
4.    มรณสักขี อันเดร แห่งปูเยน ครูคำสอนชาวเวียดนาม