แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

003บทที่ 4 : ภาพลักษณ์ของตัวเรากับภาพลักษณ์ของพระเจ้า
    ภาพลักษณ์ของตัวเราเองกับภาพลักษณ์ที่เรามีถึงพระเจ้านั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดมาก ยิ่งเรามีภาพลักษณ์ของตนเองที่สมบูรณ์และชัดเจนมากเพียงไร ภาพลักษณ์ที่เรามีต่อพระเจ้าก็จะสมบูรณ์และชัดเจนมากขึ้นเพียงนั้นด้วย (เทียบ ยรม. 18:1-6) เราเชื่อว่ามนุษย์เจริญชีวิตโดยอาศัยภาพลักษณ์ที่มีต่อตนเอง ต่อโลกและต่อพระเจ้า
    “ภาพลักษณ์” ที่กล่าวมานี้บอกอะไรคุณบ้างไหมเกี่ยวกับสัมพันธภาพของคุณกับพระเจ้า? หรือกับผู้เรียนของคุณ? แน่นอนมันลึกซึ้งยิ่งกว่าความหมายเชิงปรัชญาหรือเชิงเทววิทยาเสียอีก ภาพลักษณ์สามารถทำให้เรามั่งคั่งขึ้นได้จากความรู้สึกที่ลึกๆ และจากความเชื่อมโยงภายในซึ่งแสดงออกมา

การเข้าร่วมในลีลาศฝ่ายจิต
    ภาพลักษณ์เป็นผลผลิตจากจินตนาการ ซึ่งได้มาจากประสบการณ์หลากหลายทั้งด้านสติปัญญาและอารมณ์ คือจากทั้ง “หัว” และ “หัวใจ” ชีวิตของเราจึงต้องการประสบการณ์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้สึก สุนทรียะและการหยั่งรู้ จินตนาการทำให้เรารู้สึกสนุกกับชีวิต

    ในเวลาเดียวกัน เราต้องสร้างสมดุลระหว่างประสบการณ์ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเล่น รวมถึงการพักผ่อนด้วย ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจิตเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างขั้วทั้งสองของมนุษย์ (สติปัญญาและน้ำใจ) นี้ว่าการ “ลีลาศ” ของกิจการและการพิศเพ่ง ซึ่งเราไม่สามารถใช้ชีวิตสุดโต่งไปทางขั้วใดขั้วหนึ่งได้เพราะจะสร้างความไม่สมดุลและผลเสียแก่เราอย่างมหาศาล อาจถึงขั้นที่ทำให้หมดความมั่นใจและเกิดความสงสัยในตนเองและผู้อื่นได้ ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจิตและจิตวิทยากล่าวว่า การออกจากสภาพเช่นนี้ได้มีทางเดียวคือ ต้องทำให้ “จินตนาการสั่นสะเทือน” เพราะการเยียวยาด้วยเหตุผลเท่านั้นไม่เพียงพอเสียแล้ว การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นในสมองซีกขวาที่ซึ่งความรู้สึก การหยั่งรู้และจินตนาการของเราสถิตอยู่ อาศัยการพยายามควบคุมทุกอย่างในชีวิตของตนและการเปิดตนต่อธรรมล้ำลึก 
    การเข้าใจสิ่งนี้มีผลต่อการสอนคำสอนของเราอย่างไร... เราต้องทำหน้าที่ครูคำสอนด้วยความกระตือรือร้น มีชีวิตชีวา ต้องพยายามทำให้ความธรรมดาของชีวิตกลายเป็นการเฉลิมฉลอง

การเฉลิมฉลองสิ่งธรรมดาสามัญ
เรากำลังเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายเหล่านี้อยู่ คือ
1. ความท้าทายที่จะต้องปลุกให้เกิดความพิศวงและชื่นชมในความปกติธรรมดา
เราต้องใส่ “แว่นตาใหม่” ที่ช่วยให้มองกิจกรรมธรรมดาประจำวันด้วยสายตาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทาน – กลายเป็นสิ่งนำความชื่นชอบ  การอาบน้ำ – กลายเป็นความสดชื่นรื่นรมย์  การฟังผู้อื่น – กลายเป็นช่วงเวลาแห่งพระพร  การอยู่บ้านคนเดียว – กลายเป็นการผ่อนคลายได้ทำสิ่งที่ฝัน ได้ฟังดนตรี ฯลฯ กิจกรรมต่างๆ เหล่านั้นสามารถกลายเป็นแหล่งของการฟื้นฟูตัวเรา บรรยากาศครอบครัว ความมุ่งหวัง และความน่าตื่นเต้นของการค้นพบได้      
2. ความท้าทายที่จะปลุกให้เปิดรับชีวิตที่ปกติธรรมดา 
หากเรามัวแต่สาละวนแสวงหาแต่สิ่งแปลกใหม่น่าตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา เราจะพลาดความวิเศษของชีวิตประจำวัน การเฉลิมฉลองประสบการณ์ประจำวันจะเป็นโอกาสให้เรามีสติในการเจริญชีวิตในแต่ละขณะอย่างสมบูรณ์ได้    
3. ความท้าทายที่จะปลุกให้เกิดการปฏิบัติทักษะด้านการดูแล 
ถ้าเรารู้จักดูแลเอาใจใส่ทุกกิจการในชีวิตประจำวัน เราจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะรู้จักเคารพชีวิต ซึ่งจะนำสู่ความเบิกบานยินดีที่ลึกซึ้ง ที่มีผลต่องานคำสอนทั้งหมดของเรา ความเบิกบานยินดีนั้นแพร่หลายสู่ผู้อื่นได้ง่าย  

การสร้างภาพลักษณ์
เรากำลังเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายเหล่านี้ในตัวผู้เรียนของเราอยู่ คือ
1. ความท้าทายที่จะช่วยผู้เรียนให้เชื่อมั่นในความดีของตนเอง 
งานวิจัยบอกว่า คนรุ่นเยาว์มักจะมีภาพพจน์ของตนเองในเชิงลบ ยิ่งกว่านั้นในสังคมยุคนี้การให้คุณค่าแก่ตนเองมักจะเน้นไปในเรื่องภายนอก เช่น การต้องดูดี สิ่งที่มีและยี่ห้อของสิ่งที่ใช้ 
ครูคำสอนสามารถช่วยผู้เรียนให้มีความมั่นใจอย่างถูกต้องว่า เรามีดีเพราะเราถูกสร้างมาให้เป็นภาพลักษณ์ที่คล้ายกับพระเจ้า ดังที่ น.เปาโลสอนว่า “เราเป็นผลงานของพระองค์ ถูกสร้างมาในพระคริสตเยซูเพื่อให้ประกอบกิจการดี ซึ่งพระเจ้าทรงกำหนดล่วงหน้าให้เราปฏิบัติ” (อฟ. 2:10)
2. ความท้าทายที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงความดีของสิ่งสร้างของพระเจ้า 
การสัมผัสถึงความไม่ดีหรือความเสื่อมโทรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะในอากาศหรือในน้ำ การทำลายป่า ฆาตกรรมที่เหี้ยมโหดในสังคม สื่อสังคมที่ไม่สร้างสรรค์ ฯลฯ ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้ครูคำสอนต้องสอนผู้เรียนให้รู้จักดูแลเอาใจใส่และให้ความเคารพต่อสิ่งสร้างของพระเจ้า เมื่อเขาดูแลสิ่งสร้างได้เขาจะดูแลบุคคลอื่นได้ง่ายขึ้นด้วย   
3. ความท้าทายที่จะช่วยผู้เรียนให้เจริญชีวิตในความหวังแห่งอนาคต  
คนรุ่นเยาว์ยังเจริญชีวิตอยู่ในช่วงของความสับสน ความผิดหวัง ของการยังไม่มีวุฒิภาวะเต็มที่ งานคำสอนจึงต้องนำพวกเขาเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงบุคคลที่นำสู่การบรรลุวุฒิภาวะอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังเช่นเมล็ดพันธุ์พืชที่ต้องค่อยๆ เติบโตขึ้นจนกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่สมบูรณ์และให้ผลที่ดี  

    ผู้เรียนคำสอนต้องสัมผัสถึงความรักที่ไร้เงื่อนไขของครูคำสอน โดยก่อนอื่นใดหมดเราต้องพัฒนาชีวิตฝ่ายจิตของเราให้บรรลุวุฒิภาวะที่สมบูรณ์เสียก่อน ต้องรู้จักมองไปยังระดับที่อยู่เหนือสิ่งมองเห็นด้วยสายตาหรือการเห็นแค่เพียงตัวบุคคลกับงานที่ต้องทำเท่านั้น แต่ต้องสามารถดำเนินชีวิตด้วยการมอบความรัก ความจริงและความยุติธรรมให้แก่พวกเขา เราได้รับพระพรอันประเสริฐนี้มาจึงต้องรู้จักแบ่งปันแก่ทุกคน เพื่อจะติดปีกให้สามารถบินได้
    บรรยากาศเช่นนี้ จะช่วยให้ทั้งครูคำสอนและผู้เรียนสามารถสร้างภาพลักษณ์ของตนให้คล้ายคลึงกับภาพลักษณ์ของพระเจ้าได้ง่ายยิ่งขึ้น

เรื่องเปรียบเทียบ
    การเล่าเรื่องเปรียบเทียบนั้นมีหลายแบบ แต่ทุกแบบล้วนบอกถึงความหมายเดียวกัน เรื่องที่จะเล่านี้จะช่วยให้ท่านไตร่ตรองถึงการสอนของท่านได้  
    ชาวไร่คนหนึ่งเก็บไข่ของนกอินทรีทองมาได้ เขาจึงเอาไปฟักโดยให้แม่ไก่กก ไม่นานลูกนกอินทรีทองก็ออกมาดูโลกพร้อมกับลูกไก่ตัวอื่น มันเจริญชีวิตด้วยการทำทุกอย่างเหมือนลูกไก่ โดยคิดว่าลูกไก่เหล่านั้นคือพี่น้องของมัน ทั้งไก่และลูกนกอินทรีพยายามหัดบินแต่ก็ไปได้ไม่สูงนักเพราะไก่บินได้เพียงเตี้ยๆ เท่านั้น
    เมื่อลูกนกอินทรีเติบใหญ่ ขณะที่เดินคุ้ยเขี่ยอาหาร มันเหลือบไปเห็นนกตัวใหญ่บินร่อนถลาลมอยู่บนท้องฟ้า เห็นปีกของนกใหญ่ที่กางออกนั้นเป็นสีทองมีประกายเจิดจ้าน่าประทับใจยิ่งนัก มันจึงร้องถามว่านั่นคือนกอะไร คำตอบที่ได้คือพญานกอินทรีทอง เจ้าแห่งเวหา
    ไก่ตัวอื่นจึงเตือนมันว่า อย่าคิดโบยบินอย่างนกอินทรีทองนั้นเลยเพราะพวกมันเป็นเพียงไก่ที่มีสิทธิ์เพียงเดินดินเท่านั้น ลูกนกอินทรีทองจึงได้แต่เจริญชีวิตเยี่ยงไก่ และสุดท้ายก็ตายไปอย่างไก่ ด้วยความคิดที่ว่าตนเป็นเพียงไก่ตัวหนึ่งเท่านั้น (Antony De Mello, Song of the Bird)

เรื่องเปรียบเทียบนี้บอกอะไรแก่ท่านบ้าง?

คำถามเพื่อการไตร่ตรอง
สิ่งเหล่านี้อาจใช้สำหรับเป็นภาพลักษณ์ของการเป็นครูคำสอนได้ เช่น
+ ช่างปั้นหม้อ
+ ผู้หว่าน
+ พยาบาลผดุงครรภ์

ภาพลักษณ์เหล่านี้ใช้อธิบายถึงประสบการณ์ที่คุณสัมผัสเกี่ยวกับงานคำสอนของคุณได้หรือไม่? เพราะเหตุใด?
+ คุณสามารถคิดถึงภาพลักษณ์อื่นๆ ที่ช่วยธิบายถึงบทบาทหน้าที่ของคุณได้หรือไม่? เพราะเหตุใด?
+คุณคิดว่าการเตือนตนเองให้ตระหนักถึงภาพลักษณ์ต่างๆ ในขณะที่คุณเตรียมตัวที่จะพบปะกับผู้เรียนคำสอนของคุณนั้นเป็นประโยชน์หรือไม่?