ความทรมานและความตาย
223

    พระเยซูจึงทรงเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายให้แก่อัครสาวก ระหว่างงานเลี้ยงพระองค์ทรงแสดงถึงการมีตัวตนอยู่อย่างแท้จริงของพระองค์ ด้วยพิธีกรรมแบบง่าย ๆ ทรงหยิบขนมปัง หักส่งให้เหล่าสาวก แล้วตรัสว่า “จงรับเถิด นี่เป็นกายของเรา” และในทำองเดียวกัน เมื่อการเลี้ยงอาหารค่ำเสร็จลง พระองค์ทรงหยิบถ้วยเหล้าองุ่นประทานแก่บรรดาศิษย์ตรัสว่า “จงรับไปดื่มให้ทั่วกันเถิด ด้วยว่านี่เป็นโลหิตของเราอันเป็นโลหิตแห่งพันธสัญญา” “จงทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา” (มัทธิว 26:26-30; มาระโก 14 : 22-24 ; ลูกา 22:17 – 20; 1โครินทร์ 11:24-25) พันธสัญญาใหม่ที่บรรดาประกาศกประกาศไว้ล่วงหน้า เกิดขึ้นและเป็นจริงแล้ว ณ เวลานั้น พระเยซูนั้นเองคือพันธสัญญาใหม่ สันติสุขและสามัคคีธรรมนิรันดรของพระเจ้ากับมนุษย์เกิดขึ้นโดยการเสียสละชีวิตของพระองค์ในคืนนั้นเองหลังจากงานเลี้ยงอาหารค่ำพระเยซูเสด็จไปสวนเกทเสมนีกับพวกอัครสาวก ณ ที่นั้นเมื่อความรู้สึกกลัวตายจู่โจมพระองค์ พระองค์ทรงกราบลงถึงดินและสวดภาวนาต่อพระเจ้าว่า “โอพระบิดา ของข้าพระองค์ ถ้าเป็นไปได้ขอให้ถ้วยนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพระองค์เถิด แต่อย่างไรก็ดี อย่าให้เป็นไปตามใจปรารถนาของข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” (มัทธิว 26:39) แม้ว่าพระเยซูจะทรงผ่านประสบการณ์ทุกข์ยากทุกประการ อย่างที่มนุษย์จะพึงได้รับมาแล้วในชีวิตก็ตาม การตายอย่างทรมานยังคงเป็นสิ่งที่น่าสยดสยองที่สุด แต่ไม่ว่าจะแค่ไหนอย่างไร พระองค์ยังคงสวดภาวนาว่า “พระบิดาให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์”

    หลังจากสวดภาวนาเสร็จ ยูดาส อิสคาริโอท พาพวกทหารกับประชาชนมาจับ และผูกมือพระองค์พาไปสภา การพิจารณาคดีพระเยซูเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความอยุติธรม เพราะพวกผู้พิพากษาได้ตัดสินประหารชีวิตของพระองค์แล้วตั้งแต่ก่อนพิจารณาคดี (ยอห์น 11:50) แต่ในช่วงเวลาของการพิจารณาคดีอันอยุติธรรมนั้นยังมีช่วงเวลาประเสริฐอยู่ชั่วอึดใจหนึ่ง คือเมื่อมหาปุโรหิตคายาฟาส ผู้เป็นหัวหน้าผู้พิพากษาถามพระเยซูเจ้าว่า “ท่านเป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าหรือไม่” (มัทธิว 26: 63) พระเยซูผู้ทรงถูกประชาชนทอดทิ้ง ถูกทหารมัดและตบหน้า ทรงตอบผู้พิพากษาด้วยความสงบว่า “ท่านว่าถูกแล้ว และยิ่งกว่านั้นอีกเราบอกท่านทั้งหลายว่า ในเวลาเบื้องหน้านั้นท่านจะได้เห็นพระบุตรนั่งข้างขวาของผู้ทรงฤทธานุภาพ และเสด็จมาบนเมฆแห่งฟ้าสวรรค์” (มัทธิว 26:64) พระเยซูไม่เคยทรงประกาศชัดเจนและเปิดเผยอย่างนั้นมาก่อนจนถึงเวลานั้น พระองค์ไม่ทรงปรารถนาจะเสียชีวิตโดยปล่อยให้ผู้คนไม่รู้ความจริง หรือเข้าใจผิดเรื่องของพระองค์ ในขณะที่ “ถึงเวลา” ของพระองค์แล้ว เวลานี้เป็นเวลาที่ทรงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระองค์เป็นผู้ใด อะไรคือภาระหน้าที่ของพระองค์ ดูเหมือนว่านี่แหละเป็นเหตุผลที่ทำให้พระเยซูถูกพิพากษาตัดสินว่า มีความผิด เพราะทันทีที่มหาปุโรหิตได้ยินถ้อยคำที่พระเยซูทรงประกาศ เขาก็ตะโกนสียงดังว่า “ท่านทั้งหลายก็ได้ยินเขาพูดหมิ่นประมาทพระเจ้าแล้ว ท่านทั้งหลายคิดเห็นอย่างไร” (มัทธิว 26:65-66)
    นักโทษคนนี้ที่ไม่อาจปกป้องตนเองจากน้ำมือของพวกทหารยืนยันว่าเขาเป็นผู้ที่จะช่วยอิสราเอลให้เป็นอิสระ และทั้ง ๆ ที่เป็นมนุษย์ธรรมดา ๆ ก็ยังบังอาจประกาศตนเองเท่าเทียมพระเจ้า คำประกาศชัดเจนว่าตนเองนั่งอยู่ข้างขวาของพระเจ้าถือเป็นเรื่องเหลวไหลและหมิ่นประมาทพระเจ้า พวกผู้พิพากษาทั้งปวงพากันโกรธแค้นและร้องตะโกนว่า “ควรปรับโทษถึงตาย” (มัทธิว 26:66) ในสมัยนั้นเจ้าเมืองโรมันมีสิทธิอำนาจพิพากษาตัดสินประหารชีวิตในกรุงเยรูซาเล็ม บรรดาสมาชิกสภาจึงพาพระเยซูไปหาปิลาตเจ้าเมือง เพื่อให้เขาพิพากษาประหารพระองค์เสีย  โดยมีข้อกล่าวหาที่ปราศจากหลักฐานว่า พระองค์ทรงเป็นอาชญากรการเมืองผู้ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายปั่นป่วน (ลูกา 23:2) ตอนแรกปิลาตเห็นว่าพระเยซูไม่ทรงมีความผิดอะไร พระองค์ลังเลใจไม่อยากประกาศพิพากษาพระองค์ แต่การปฏิเสธคำเรียกร้องของบรรดาปุโรหิตไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดต่อเขาในทางการเมือง ปิลาตจึงตัดสินใจประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการพิพากษาและมอบพระเยซูให้แก่พวกเขา ซึ่งได้นำพระองค์ไปตรึงที่กางเขน พวกทหารพากันถ่มน้ำลายรดพระองค์ เอาไม้อ้อตีพระเศียร และหลังจากเฆี่ยนตีพระองค์แล้วก็พาไปตรึงกางเขนที่กลโกธา พระเยซูทรงรับทุกข์ทรมานบนกางเขนประมาณ 3 ชั่วโมง เวลานั้นดูเหมือนว่าคนชั่วร้ายทั้งมวลในโลกนี้ตกอยู่กับพระองค์ ทรงทำพระราชภารกิจสำเร็จตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าพระบิดาผู้ทรงใช้พระองค์มา แต่เมื่อทรงถูกตรึงกางเขนพระเจ้าไม่ได้ทรงช่วยพระองค์ให้ปราศจากจากความทุกข์ทรมานแต่อย่างใด นอกจากทรงแบกรับความทุกข์ทรมานทางฝ่ายร่างกายแล้ว จิตใจก็ทรงเจ็บปวดด้วยเช่นกัน ทรงรู้สึกว่าพระเจ้าทรงทอดทิ้งพระองค์ ซึ่งถือว่าเป็นการเผชิญการทดลองที่น่ากลัวน่าสยดสยองที่สุด ตลอดเวลาที่ผ่านมาพระเยซูทรงสั่งสอนผู้คนว่า จงรักศัตรูของท่านถ้าอย่างนั้นเมื่อพวกเขาประหารพระองค์ด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยมที่สุด หนำซ้ำยังหัวเราะเยาะพระองค์เมื่อทรงต้องทรงทุกข์ทรมาน ถึงขนาดนี้แล้วพระองค์ยังทรงรักพวกเขาอยู่ได้หรือเปล่า และสำหรับคำสั่งสอนของพระองค์ที่ว่า จงไว้ใจพระเจ้าโดยไม่มีขีดจำกัดล่ะ ทั้ง ๆ ที่พระองค์เองถวายชีวิตแด่พระเจ้าพระบิดา เพื่อให้สำเร็จตามพระประสงค์ ทั้ง ๆ ที่พระบิดาทรงมองเห็นว่าพระองค์จะถูกประหาร ทำไมพระบิดาจึงไม่ทรงช่วยพระองค์ พระเจ้าองค์นี้จะยังสมควรเป็นผู้ที่พระเยซูมอบความไว้วางใจให้อีกหรือ
    การทดสอบทั้งสองประการที่ว่า พระเยซูจะยังทรงรักศัตรู และทรงไว้วางใจพระเจ้าอยู่ได้หรือไม่นั้น เป็นการทดสอบในวาระสุดท้ายของชีวิตพระองค์
    พระเยซูทรงมีท่าทีสนองตอบการทดสอบสองอย่างนี้อย่างไรหรือพระองค์ตรัสว่า “พระบิดาเจ้าข้า ขอโปรดอภัยโทษเขา เพราะว่าเขาไม่รู้ว่าเขาทำอะไร” (ลูกา 23:34) นี่คือข้อความแรกที่พระเยซูตรัสขณะถูกตรึงกางเขน เป็นท่าทีของพระองค์ทรงมีต่อการทดสอบประการแรก ทั้งๆที่พวกเขาตรึงพระองค์ พระองค์ก็ยังทรงรักพวกเขาทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพวกผู้พิพากษา เพชรฆาต หรือศิษย์ผู้ที่ละทิ้งพระองค์ตลอดจนคนอื่นๆ เหล่านั้น จนถึงวาระสุดท้าย พระเยซูเคยตรัสสอนว่า “ไม่มีผู้ใดมีความรักที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ คือการที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยอห์น 15:13) และตอนนี้พระองค์กำลังสละชีวิตของพระองค์เองเพื่อทุกคน สำหรับพระเยซูทุกคนเป็นมิตรสหาย ถึงแม้ว่าคนเหล่านั้นจะทรยศ เกลียดชัง ละทิ้งและฆ่าพระองค์
    ข้อความสุดท้ายที่พระเยซูตรัสบนกางเขน คือคำอ้อนวอนแด่พระเจ้า ผู้ที่ดูเหมือนว่ากำลังทรงละทิ้งพระองค์ไป “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพระองค์ฝากวิญญาณจิตของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (ลูกา 23:46) นี่เป็นท่าทีสนองตอบต่อการทดสอบประการที่สองของพระเยซู พระองค์สิ้นพระชนม์ไปพร้อมกับความไว้วางใจและความเชื่อฟังที่เต็มล้นบริบูรณ์ ชีวิตของพระเยซูคือบทเพลงสวดสรรเสริญความรักที่ทรงมอบถวายแด่พระเจ้าและแก่ทุกคน การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ คือที่สุดของความรักที่พระองค์ทรงมีต่อพระเจ้าและมนุษย์ทุกคน ความตายของพระองค์นี่แหละที่แสดงให้เราเห็นถึงความรักอันสมบูรณ์แบบของพระเจ้า
    ช่วงเวลาที่พระองค์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนทำให้เราเข้าใจว่าพระบุตรของพระเจ้าทรงมีพระลักษณะอย่างไร ทรงยอมเสียสละพระองค์เองด้วยความรัก และภายหลังทรงได้รับทั้งสิ้นเหล่านี้คืนจากพระบิดา
    นายร้อยผู้ยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระองค์ในวาระสุดท้ายมองเห็นสิ่งเหล่านี้ เขาบอกว่า “แท้จริงท่านผู้นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้า” (มาระโก 15:34) ตรงข้ามกับบรรดาศิษย์ของพระองค์ที่เห็นว่าการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เป็นเรื่องน่าอับอายและเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง พวกเขาเห็นว่านอกจากไม่สามารถช่วยพระองค์เองได้แล้ว  แม้แต่พระเจ้าก็ยังทรงไม่ช่วยพระเยซูด้วย เพราะฉะนั้นการที่พวกเขาเคยคิดว่า พระเยซูทรงเป็นพระผู้ช่วยของทุกคนนั้นเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหาศาล และเมื่อความคิดเช่นนี้ครอบงำจิตใจ พวกศิษย์ก็เกิดความเกรงกลัวภัยอันตรายจากชาวยิว พวกเขาพากันหนีกระจัดกระจายไป บ้างก็ไปหลบซ่อนตัวอยู่ในบ้านด้วยความหวาดกลัว ดูเหมือนพวกเขากำลังเข้าใจว่าการที่พระเยซูทรงยอมถูกกระทำทุกอย่างด้วยความรักนั้น เป็นความพ่ายแพ้