แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

คำสอนของพระเยซู
    แล้วจู่ๆ ในสังคมอย่างนี้ก็มีเสียงหนึ่งที่ไม่เคยมีใครได้ยินดังก้องไปทั่วว่า  “เวลากำหนดมาถึงแล้วและแผ่นดินของพระเจ้าก็มาใกล้แล้ว จงกลับใจเสียใหม่”   (มาระโก  ๑:๑๕)  เสียงตรัสของพระเยซูที่ว่า “พระเจ้าทรงส่งเรามา  เราอยู่กับพวกท่าน  พระเจ้าก็อยู่กับพวกท่าน”  แสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็นใคร  มีพระลักษณะอย่างไร
    สำหรับพระเยซู  พระเจ้าคือทั้งสิ้นในชีวิตของพระองค์  เพราะฉะนั้นสำหรับพระเยซูมนุษย์คือทั้งสิ้นในชีวิตของพระองค์เช่นเดียวกัน  ทุกชีวิตสำหรับพระองค์มีคุณค่ามหาศาล  ความรักที่มีต่อมนุษย์ของพระองค์ไม่มีขอบเขตจำกัด  ไม่ว่าจะต่ำต้อย   ยากจน  ไม่มีความรู้  หรือเป็นคนบาปแค่ไหน  ทุกคนมีคุณค่าเหมือนกันหมด  พระวจนะของพระเยซูที่ว่า  “วันสะบาโตนั้นทรงตั้งไว้เพื่อมนุษย์”  (มาระโก  ๒:๒๗)  ทำให้เราเห็นได้ว่าสำหรับพระองค์มนุษย์สำคัญกว่าระเบียบ  พิธีการ  ขนบธรรมเนียม  ประเพณี  หรือข้อห้ามใดๆ ทั้งสิ้น

    พวกฟาริสีตกใจมากที่ได้ยินพระองค์ตรัสอย่างนี้  โดยเฉพาะเมื่อเห็นพระเยซูทรงรักษาคนเจ็บป่วยที่มีคนพามาหาพระองค์ในวันสะบาโต  โดยไม่สนใจข้อห้ามในธรรมบัญญัติ  สำหรับพระเยซูข้อห้ามทำการดีหรือช่วยชีวิตคนในวันสะบาโตนั้นไม่มีความหมาย  พระองค์ไม่สามารถทนให้ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของคนเหล่านั้นเลื่อนออกไปได้อีกแม้แต่เพียงวันเดียว  พระองค์ทรงทำเช่นนั้นไม่ใช่เพราะว่าไม่ทรงใส่ใจธรรมบัญญัติในพระคัมภีร์เดิม  แต่เพราะทรงเห็นว่ารายละเอียดเล็กๆน้อยๆอย่างเช่นข้อห้ามเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร  สิ่งต้องห้ามต่างๆสำหรับมนุษย์  ในพระคัมภีร์เหล่านี้ไม่ใช่พระประสงค์หรือเป้าหมายสูงสุดของพระเจ้า  แต่เป็นเพียงเรื่องปลีกย่อยเล็กน้อย  ทั้งไม่ใช่พระดำรัสสั่งอันเป็นนิรันดรของพระเจ้าด้วย“สิ่งใดๆ  แต่ภายนอกที่เข้าไปภายในมนุษย์  จะกระทำให้มนุษย์เป็นมลทินไม่ได้  เพราะว่าสิ่งนั้นมิได้เข้าในใจแต่ลงไปในท้องแล้วก็ถ่ายออกลงส้วมไป  สิ่งที่ออกมาจากภายในมนุษย์สิ่งนั้นแหละทำให้มนุษย์เป็นมลทิน...” (มาระโก  ๗:๑๘-๒๓)  ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับท่าทีภายในจิตใจ  ถ้าเรามีความรักเป็นพื้นฐาน  ท่าทีในใจก็ย่อมถูกต้อง  ยิ่งเรารักพระเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจ  และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเองเราก็ยิ่งท่าทีในใจที่ถูกต้องมากขึ้น  คำว่า  “เพื่อนบ้าน”  ในพระวจนะตนเองนี้ก็ไม่ได้หมายถึงเฉพาะญาติสนิทมิตรสหาย  คนรู้จักหรือเพื่อนร่วมชาติเท่านั้น แต่รวมถึงทุกคนไม่เว้นแม้แต่คนเดียว
    พระเยซูทรงอธิบายให้เห็นชัดเจนว่า  “เพื่อนบ้าน”  เป็นใคร  ในคำอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี  (ลูกา  ๑๐:๓๐-๓๗)  เมื่อมีนักกฎหมายคนหนึ่งถามพระองค์ว่า  “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า”  ที่ถามอย่างนี้แสดงว่าเขาเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง  แล้วพยายามจะหาเส้นแบ่งว่าใครควรจะเป็นเพื่อนบ้านของเขาบ้าง  พระเยซูทรงยกอุปมาเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่เดินทางจากกรุงเยรูซาเล็มไปเมืองเยริโคเป็นคำตอบ  ชายคนนั้นถูกโจรปล้น  แย่งชิงเสื้อผ้าและทุบตีจนเจียนตายอยู่กลางทาง  ปุโรหิตและคนเลวีผู้ทำหน้าที่ในพระวิหารซึ่งเผอิญผ่านไปทางนั้นกลับเดินเลยไปเสียอีกฟากหนึ่ง  ทั้งที่มองเห็นคนเจ็บ  ตรงกันข้ามชาวสะมาเรียที่ชาวยิวถือว่าเป็นศัตรู  เมื่อเห็นคนนอนเจ็บอยู่ก็กลับใจเมตตาหยุดกลางคัน  ช่วยรักษาเยียวยา เอาผ้าพันแผลแล้วให้คนเจ็บขี่สัตว์ของตนพาไปพักที่โรงแรม  และยังฝากเงินค่ารักษาพยาบาลไว้กับเจ้าของโรงแรมด้วย  ทั้งที่รู้ว่าคนที่ตนช่วยอยู่นั้นเป็นชาวยิว
    หลังจากทรงเล่าอุปาเรื่องนี้จบ  พระเยซูตรัสถามนักกฎหมายว่า  “ในสามคนนั้นท่านคิดเห็นว่าคนไหนปรากฏว่าเป็นเพื่อนบ้านของคนมี่ถูกปล้น”  นักกฎหมายตอบว่า  “คือคนนั้นแหละที่ได้สำแดงความเมตตาแก่เขา” พระเยซูจึงตรัสกับเขาว่า  “ท่านจงไปทำเหมือนอย่างนั้นเถิด”  สรุปก็คือทรงสอนว่า  เราไม่ควรคิดว่าใครบ้างสมควรจะเป็นเพื่อนบ้านของเรา  แต่ต้องถือว่าทุกคนเป็นเพื่อนบ้านเรา  โดยเฉพาะคนยากจน  คนมีชีวิตน่าสังเวช  คนมีบาดแผล  คนที่ต้องการเพื่อนและความช่วยเหลือ  เมื่อทวงใช้คำว่า  “เรา”  ในพระดำรัสสอนที่ว่า  “จงเป็นเพื่อนบ้านของเรา  จงรักเราเหมือนท่านรักตนเอง  จงปรนนิบัติเราอย่างที่ท่านปรนนิบัติตนเอง  จงรักเราเหมือนท่านรักตนเอง  จงยินดีในความสุขของเราเหมือนท่านยินดีในความสุขของตนเอง”  “เรา”  ในที่นี้ก็คือคนที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่งเอง
    พระเยซูทรงสอนว่า  จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง  และเมื่อใกล้วาระสุดท้ายของพระองค์ในโลกนี้  ทรงสอนอีกด้วยว่า  “เรารักเจ้าทั้งหลายมาแล้วอย่างไร  เจ้าจงรักกันและกันอย่างนั้น”  (ยอห์น  ๑๓:๓๔)  นี่เองเป็นบัญญัติใหม่ของพระเยซูที่ครอบคลุมพระบัญญัติทั้งหมด
เป็นความจริงที่ว่าพระเยซูทรงรักชีวิตของคนทั้งหลายมากกว่าชีวิตของพระองค์เอง  ทรงดำเนินชีวิตและทรงสละชีวิตเพื่อคนอื่น  การรักกันและกันเหมือนที่พระเยซูทรงรักเรา  เป็นพระบัญญัติและพระประสงค์ของพระเจ้า  และถ้าเราไม่ถือรักษาพระบัญญัติข้อนี้  ต่อให้พิธียิ่งใหญ่ศักดิ์สิทธิ์แค่ไหนก็ไม่มีความหมายอะไรเลย  พระเยซูตรัสว่าถ้าท่านนำเครื่องบูชาถึงแท่นบูชา  และระลึกขึ้นได้ว่า  พี่น้องมีเหตุขัดเคืองข้อหนึ่งข้อใดกับท่าน  จงวางเครื่องบูชาไว้ที่หน้าแท่นบูชา  กลับไปคืนดีกับพี่น้องผู้นั้นเสียก่อน  แล้วจึงค่อยมาถวายเครื่องบูชาของท่าน  (มัทธิว  ๕:๒๓-๒๔)
    พระเจ้าไม่ปรารถนาเครื่องบูชาหรือการสดภาวนาที่ไม่มีความรัก  มหาปุโรหิตสวดภาวนาในพระวิหารของกรุงเยรูซาเล็มก็จริง  แต่ถ้าเขาไม่มีความรักในจิตใจเขาก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว  เป็นคนที่ไม่รู้จักพระทัยของพระเจ้า  เหมือนปุโรหิตในเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี  แน่นอนคำสอนเช่นนี้ของพระเยซูคงจะทำให้พวกปุโรหิตแห่งเยรูซาเล็มทั้งหลาย  ซึ่งยึดมั่นถือมั่นในเรื่องสิทธิอำนาจของตนไม่พอใจอย่างยิ่ง
    แม้ว่าจะมีผู้ไม่พอใจคำสอนของพระองค์  พระเยซูก็มิได้ทรงหวาดกลัว  ทรงกล่าวติเตียนคนเหล่านั้นที่เห็นว่าการเลือกรับบางคนเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า พระดำรัสของพระองค์ที่ว่า  “จงรักศัตรูของท่าน”  (ลูกา  ๖:๒๗-๓๖)เป็นเหมือนลูกไฟที่สาดใส่คนเหล่านั้น  พระเยซูไม่ทรงยอมประนีประนอมในข้อนี้เลย  “เราบอกท่านทั้งหลายที่กำลังฟังอยู่ว่า  จงรักศัตรูของท่าน  จงทำดีแก่ผู้ที่เกลียดชังท่าน  จงอวยพรแก่คนที่แช่งด่าท่าน  จงอธิฐานเพื่อคนที่เคี่ยวเข็ญท่าน  ผู้ใดตบแก้มของท่านข้างหนึ่ง  จงหันอีกข้างหนึ่งให้เขาด้วย  และผู้ใดริบเอาเสื้อคลุมของท่านไป  ถ้าเขาจะเอาเสื้อด้วยก็อย่าหวงห้าม  จงให้แก่ทุกคนที่ขอจากท่าน และถ้าใครได้ริบของท่านไป  อย่าทวงเอาคืน  จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่ท่านปรารถนาให้เขาปฏิบัติต่อท่านแม้ว่าท่านทั้งหลายรักผู้ที่รักท่าน  จะทรงนับว่าเป็นคุณอะไรแก่ท่าน  ถึงแม้คนบาปก็ยังรักผู้ที่เขารักเหมือนกัน  ถ้าท่านทั้งหลายทำดีแก่ผู้ที่ทำดีแก่ท่าน  จะทรงนับว่าเป็นคุณอะไรแก่ท่าน  เพราะว่าคนบาปก็กระทำเหมือนกัน  ถ้าท่านทั้งหลายให้ยืมเฉพาะแต่ผู้ที่ท่านหวังจะได้คืนจากเขาอีก  จะทรงนับว่าเป็นคุณอะไรแก่ท่าน  ถึงแม้คนบาปก็ยังให้คนบาปยืมโดยหวังว่าจะได้รับคืนจากเขาเช่นกัน  แต่จงรักศัตรูของท่านทั้งหลาย  และทำการดีต่อเขา  จงให้เขายืมโดยไม่หวังที่จะได้คืนอีก  บำเหน็จของท่านทั้งหลาย  จึงจะมีบริบูรณ์  และท่านทั้งหลายจะเป็นบุตรพระเจ้าสูงสุดเพราะว่า  พระองค์ยังทรงโปรดแก่คนอกตัญญูและคนชั่ว  ท่านทั้งหลายจะมีความเมตตากรุณา  เหมือนอย่างพระบิดาของท่านมีพระทัยเมตตากรุณา  (ลูกา  ๖:๒๗-๓๖) 
    คำสอนเช่นนี้ของพระเยซูคงจะไม่เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่งแก่พวกสมาชิกพรรคชาตินิยมเช่นเดียวกัน  แต่แรกนั้นพวกเขาต้อนรับพระองค์ในฐานะผู้ร่วมอุดมการณ์ปลดปล่อยผู้ทุกข์ยากจากการกดขี่ข่มเหงของชนชาวโรมัน พวกเขาหวังให้พระองค์เป็นผู้นำขบวนปฏิวัติ แต่หลังจากฟังคำสั่งสอนดังกล่าวพวกเข้ารู้สึกผิดหวัง เพราะคิดว่าผู้ที่ประกาศสั่งสอนผู้คนให้รักศัตรูเช่นพระเยซูนั้น ไม่มีทางนำเขาให้พร้อมที่จะต่อสู้ทำสงครามกับชนชาวโรมันได้

ที่มา: หนังสือชีวิตและคำสอนของพระเยซู