แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako
ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความรัก

หลังการประชุมสมัชชาพระสังฆราช สมัยสามัญ ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 2-23 ตุลาคม ค.ศ. 2005 เรื่องศีลมหาสนิท บ่อเกิดและจุดสูงสุดแห่งชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร พระดำรัสเตือน เรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความรัก (Sacramentum Caritatis-Sacrament of Charity) เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย แผนกการพิมพ์ ได้จัดแปลและพิมพ์เผยแพร่แล้ว เมื่อกรกฎาคม พ.ศ. 2550

จุดมุ่งหมายของพระดำรัสเตือนฉบับนี้ “ต้องการนำเอาข้อคิดพิจารณา และข้อเสนอแนะที่ดีมีประโยชน์มากมายที่ได้จากสมัชชาไปลงมือปฏิบัติ...เพื่อมุ่งให้เกิดการทำงานส่งเสริมความรักศรัทธาร้อนรนต่อศีลมหาสนิทให้มากยิ่งขึ้นในพระศาสนจักรเป็นสำคัญ...ให้บรรดาคริสตชนเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพระธรรมล้ำลึกศีลมหาสนิท การประกอบพิธีกรรมการถวายคารวกิจฝ่ายจิตแบบใหม่ ที่ได้รับมาจากศีลมหาสนิท อันเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความรัก” และเป็นพระดำรัส ของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 (ฉบับที่ 2) ที่คู่ไปกับสมณสาส์นฉบับแรก ชื่อ พระเจ้าคือความรัก

เนื้อหาแห่งเป็น 3 ภาค (97 ย่อหน้า) คือ
ภาค 1 ศีลมหาสนิท พระธรรมล้ำลึกที่เราต้องเชื่อ (1-33)
ภาค 2 ศีลมหาสนิท พระธรรมล้ำลึกที่เราต้องเฉลิมฉลอง (34-69)

กล่าวถึง - พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ
- วิธีประกอบพิธีศีลมหาสนิท
- โครงสร้างของพิธีมิสซา
- การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในพิธีกรรม
- การมีส่วนร่วมจากภายใน ในการร่วมพิธี
- การนมัสการศีลมหาสนิทและความเลื่อมใสศรัทธาต่อศีลมหาสนิท
ภาค 3 ศีลมหาสนิท พระธรรมล้ำลึกที่เราจะต้องเจริญชีวิต (70-79)
กล่าวถึง - ศีลมหาสนิท รูปแบบของชีวิตคริสตชน
- ศีลมหาสนิท พระธรรมล้ำลึกที่เราต้องประกาศ
- ศีลมหาสนิท พระธรรมล้ำลึกที่จะต้องมอบให้แก่โลก

มีความคิดอะไรใหม่
เป็นเรื่องยากที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับหนังสือ 127 หน้า ว่ามีความคิดอะไรใหม่ในเนื้อที่จำกัด เพราะเนื้อหาน่าสนใจหลายประการ แล้วแต่ว่าคุณเป็นพระสงฆ์ ผู้อภิบาล เป็นนักบวช ครูคำสอน สภาอภิบาล หรือเยาวชน

ผมขอเสนอมุมมองบางประการ ในด้านการสอนคำสอน (ข้อ 64) บรรดาพระสังฆราชเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องใช้

วิธีสอนคำสอนแบบสนใจช่วงหลังจากรับศีลล้างบาป (mystagogical approach) 3 ขั้น อันได้แก่

ก. การอธิบายพิธีต่างๆ ตามธรรมเนียมประเพณีที่มีชีวิตของพระศาสนจักร

ข. การนำเสนอความหมายของเครื่องหมายต่างๆ ที่มีอยู่ในพิธี ช่วยให้คริสตชนไวต่อภาษาของเครื่องหมาย และท่าทางต่างๆ ซึ่งประกอบกับถ้อยคำขึ้นเป็นพิธี

ค. การนำเสนอความหมายของพิธีสำหรับชีวิตคริสตชน ในทุกมิติชีวิต

ผมแก้ตัวไว้ก่อนแล้วว่าเป็นเรื่องยาก (เพราะเนื้อที่จำกัด) ต้องอ่านเองดีกว่าครับ



อุดมสารรายสัปดาห์ ฉบับที่ 34 : 19 - 25 ส.ค. 2550