แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ทำไมพระสันตะปาปาจึงมีรัฐปกครอง

images    เราคุ้นเคยกับกิจศรัทธาของชาวคาทอลิกที่บริจาคที่ดินให้กับพระศาสนจักร คือให้กับสังฆมณฑลหรือสถาบันนักบวช เรื่องคล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 4 บรรดาผู้ปกครองชาวคาทอลิกบริจาคที่ดินหรือรัฐให้กับสำนักพระสันตะปาปา
    อย่างเช่นในศตวรรษที่ 4 พระศาสนจักรได้ครอบครองสิ่งบริจาคทั้งในและรอบๆ กรุงโรม ในเกาะชิซิลี และในเกาะซาร์ดิเนีย ในปี ค.ศ. 756 กษัตริย์เปแปงแห่งฝรั่งเศส (ค.ศ. 714-768) ได้บริจาคอาณาเขตแคว้นราเวนนาที่ยึดมาจากชาวลอมบาร์ดีให้แก่พระ-สันตะปาปา สเทเฟน ที่ 2 (752-757) บุตรชายของพระองค์ชื่อ ชาร์ลเลอมาญ ได้ยืนยันการบริจาคนี้ในปี ค.ศ. 774 ในปี ค.ศ. 1115 ขุนนางหญิงชื่อ มาทิลดาแห่งตอสกานี ได้มอบที่ดินส่วนตัวแด่พระศาสนจักร

    ที่ดินเหล่านี้และที่ดินแห่งอื่นๆ ที่บริจาคให้กับพระศาสนจักรนั้นเริ่มใช้ชื่อว่า “รัฐของพระสันตะปาปา” เนื่องจากว่าพระสันตะปาปาคือผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร จึงเป็นที่รู้จักกันในนาม “มรดกของนักบุญเปโตร”
    ผลดีต่อพระศาสนจักรในการครอบครองรัฐต่างๆ ทางฝ่ายโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงโรมที่พระสันตะปาปาทรงเป็นผู้ปกครองอิสระ สามารถปฏิบัติหน้าที่อภิบาลฝ่ายจิตได้อย่างอิสระในนามของพระศาสนจักรสากลโดยไม่ขึ้นกับผู้ปกครองรัฐใดทางฝ่ายโลก
    แต่ก็มีผลเสียด้วยเช่นกัน พระสันตะปาปาในฐานะผู้ปกครองอาณาเขตทางฝ่ายโลก เหมือนกับผู้ปกครองรัฐทางฝ่ายโลกคนอื่นๆ บางครั้งก็ต้องเผชิญกับการปฏิวัติและการจลาจลของคนในปกครอง จึงเกิดปัญหาขัดแย้งกันขึ้น และถึงกับทำสงครามแย่งดินแดนกับผู้ปกครองรัฐทางฝ่ายโลกคนอื่นๆ ที่อยากยึดครองรัฐของพระ-สันตะปาปา อย่างไรก็ตาม การเสริมสร้างพันธมิตรเพื่อความมั่นคงกับผู้ปกครองอาณาเขตทางฝ่ายโลก ก่อให้เกิดการแตกแยกและความเสื่อมเสียต่อความเอาใจใส่ฝ่ายจิตของพระศาสนจักร และก็ยุ่งอยู่กับภารกิจทางฝ่ายโลก คือ การปกครองดูแลรัฐต่างๆ
     กรณีขัดแย้งอันยาวนานระหว่างรัฐต่างๆ ของพระสันตะปาปากับบรรดาผู้มีอำนาจทางฝ่ายโลกนั้น ได้ถึงขั้นวิกฤต เมื่อกษัตริย์วิกตอร์ เอมมานูแอล ที่ 2 (1864-1878) กษัตริย์องค์แรกของอิตาลี ได้เข้าครอบครองพระสันตะปาปาที่โรม ในปี ค.ศ. 1870 ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาในสมัยนั้นคือสมเด็จพระสันตะปาปา ปีอุส ที่ 9 (1846-1878) ได้สูญเสียอำนาจสูงสุดทางฝ่ายโลกแล้ว พระ-สันตะปาปาจึงเห็นตัวเองเป็นดังนักโทษในนครรัฐวาติกัน บรรดาผู้สืบตำแหน่งต่อจากพระองค์ (คือ เลโอ ที่ 13, ปีโอ ที่ 10, เบเนดิกต์ ที่ 15,  ปีโอที่ 11) ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน
    ที่สุด ในปี ค.ศ. 1929 สมณสมัยของพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 (1922-1939) เกิดกรณีที่เรียกกันว่า “กรณีพิพาทโรมัน” ที่ยุติลงด้วยสนธิสัญญาลาเตรัน ระหว่างพระสันตะปาปากับกษัตริย์แห่งอิตาลี คือ วิกตอร์ เอมมานูแอล ที่ 3 (1900-1964) ผู้แทนพระ-สันตะปาปาคือ พระคาร์ดินัล กัสปารี  ส่วนผู้แทนกษัตริย์คือเบนิโต มูสโซลีนี
    สนธิสัญญาดังกล่าวได้ช่วยเสริมสร้างนครรัฐวาติกันที่มีเนื้อที่ 108.7 เอเคอร์ อันเป็นรัฐอิสระที่พระสันตะปาปาทรงเป็นประมุขสูงสุด แม้เป็นรัฐเล็กๆ ที่มีเนื้อที่เป็นรูปสามเหลี่ยมในกรุงโรม ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไทเบอร์ ก็ทำให้พระสันตะปาปาเป็นอิสระจากเรื่องการเมือง เพื่อทำการอภิบาลดูแลจิตใจฝูงแกะของพระองค์ทั่วทุกมุมโลก ความเป็นเอกเทศนี้ทำให้พระองค์ไม่ได้รับความวุ่นวายจากผู้มีอำนาจทางฝ่ายโลกใดๆ เลย จึงสามารถวางตัวเป็นกลางปลอดจากความขัดแย้งระหว่างชาติต่างๆ
    ผลดีที่พระสันตะปาปามีรัฐปกครองแม้จะน้อยนิดก็ตาม เป็นสิทธิบัตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง      มีพระสันตะปาปาเป็นชาวอิตาเลียน ซึ่งสามารถเป็นศัตรูกับชาติพันธมิตรต่างๆ ได้อย่างน้อยทางด้านเทคนิค แต่เนื่องจากนครรัฐวาติกันเป็นรัฐอิสระ พระ-สันตะปาปาจึงปลอดจากการเป็นศัตรูกับชาติใดๆ โดยสิ้นเชิง เหนือสิ่งอื่นใด การจัดให้รัฐวาติกันเป็นรัฐอิสระเป็นกลางนั้น ทำให้สามารถทำงานช่วยมนุษยชาติได้ทั้งสองฝ่ายที่สู้รับกันในสงคราม