แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ทำไมจึงมีความทุกข์ทรมานในโลก

045 โยบ    ความทุกข์ทรมานเป็นความจริงของประสบการณ์ชีวิตมนุษย์ เป็นธรรมล้ำลึกมากพอๆ กับการมีอยู่ของมนุษย์เอง จากประสบการณ์เรารู้ว่าความทุกข์ทรมานเป็นอะไรบางอย่างที่เป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมชาติมนุษย์ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่เรามนุษย์กลัวและพยายามจะหลีกหนี
    ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ห่วงใยถึงความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก หลักคำสอนของพุทธศาสนาเริ่มด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความทุกข์ทรมาน ความเห็นของชาวพุทธเกี่ยวกับความทุกข์ทรมาน คือ เป็นผลกรรมของความชั่วร้ายที่กระทำไว้ในชีวิตก่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเห็นนั้นมุ่งอธิบายถึงความไม่เท่าเทียมกันของชีวิตมนุษย์ทั้งหลาย คำสอนหลักของพุทธศาสนา คือ อริยสัจสี่ที่ยึดหลักข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความทุกข์ทรมาน ท่าทีของชาวพุทธเกี่ยวกับความทุกข์ทรมาน คือ ความทุกข์ทรมานเป็นตัวมารร้าย ดังนั้นจึงต้องมุ่งเป้าไปที่การดับทุกข์
    คำอธิบายของชาวคริสต์เกี่ยวกับความทุกข์ทรมานนั้น คือ เป็นผลกระทบจากการตกในบาปของมนุษย์ ในอีกแง่หนึ่งก็คือ มนุษย์ได้สูญเสียสภาพดั้งเดิมที่เป็นอิสระจากความทุกข์ แต่คริสตชนมองความทุกข์ในทางบวก คือสามารถกลายเป็นสิ่งดีเพื่อประโยชน์ต่อปัจเจกชนและเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย

    คริสตชนมีองค์พระคริสตเจ้าเป็นแบบอย่าง พระองค์เหมือนอย่างมนุษย์คนอื่นๆ ทรงมีประสบการณ์เกี่ยวกับความปวดร้าวของความทุกข์ทรมาน “พระบิดาเจ้าข้า ถ้าเป็นไปได้ ขอให้ถ้วยนี้พ้นข้าพเจ้าไปเถิด ถ้าเป็นไปไม่ได้ ก็ขออย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า แต่ให้เป็นไปพระประสงค์ของพระองค์เถิด” (มธ 26:39) เรามีพระคริสตเจ้าเป็นแบบอย่างชีวิตในการเห็นคุณค่าของความทุกข์ทรมาน พระองค์ได้ทรงช่วยโลกให้รอดพ้นโดยอาศัยความทุกข์ทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์
    ความทุกข์ทรมานมิได้มาจากพระเจ้าผู้ทรงเป็นองค์ความดีทุกประการ แต่พระองค์อาจอนุโลมให้เกิดทุกข์เพื่อคุณประโยชน์ของเรา ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่เห็นผลดีที่ได้นั้นเสมอไปก็ตาม
    ความทุกข์มาสู่เราได้หลายวิธี
    ก) อันดับแรก ความทุกข์เป็นเรื่องสภาพธรรมชาติมนุษย์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ความทุกข์ทรมานที่เกิดจากการเจ็บป่วย การถูกทำร้าย การทำงานหนัก ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ “ท่านจะคลอดบุตรด้วยความเจ็บปวด... แผ่นดินจะถูกสาปแช่งเพราะท่าน ท่านจะต้องหากินจากแผ่นดินด้วยความทุกข์ยากทุกวันตลอดชีวิต แผ่นดินจะผลิตต้นหนามและกอหนาม” (ปฐก 3:16-18)
    ข) ความทุกข์ทรมานนั้นเป็นผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น อุทกภัย  วาตภัย แผ่นดินไหว ภัยแล้ง และทุพภิกขภัย มนุษย์มิได้ก่อภัยต่างๆ นี้ขึ้นมา
    ค) แต่ก็มีความทุกข์ทรมานที่มนุษย์นั้นเป็นต้นเหตุ คือความทุกข์ยากต่างๆ ที่เกิดจากการกระทำอันชั่วร้ายของมนุษย์ กิจการชั่วร้ายต่างๆ นั้นเกิดจากความอยาก ความอิจฉาริษยา ความเกลียดชัง ความโลก ราคะตัณหา ฯลฯ ความทุกข์ทรมานนั้นมิได้เกิดเฉพาะจากการทะเลาะวิวาทและการอาฆาตผูกพยาบาทเท่านั้น แต่ยังเกิดจากภัยสงครามทำลายล้างกันทั่วไปด้วย ดังนั้นมนุษย์ต้องรับผิดชอบภัยพิบัติที่เกิดจากการกระทำนั้นๆ ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ยากต่างๆ นี้
    จากมุมมองของคริสตชนนั้น มีหลากหลายวิธีในการทำให้ความทุกข์กลายเป็นสิ่งดีและเป็นพระพร
    1. เนื่องจากเราต้องรับผิดชอบในกิจการที่จงใจให้เกิดความทุกข์ยาก เราจึงควรหลีกเลี่ยงกิจการดังกล่าวนี้ คริสตชนควรแสวงหาการช่วยเหลือด้วยการสวดภาวนา และรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อเสริมสร้างพลังฝ่ายจิต และความมีศีลธรรมเพื่อหลีกหนีจากกิจการชั่วร้ายต่างๆ นี่คือแนวทางบวกในการพ้นจากความทุกข์ยากที่เกิดจากการกระทำของเรามนุษย์
    2. ผลบวกของความทุกข์ทรมานนั้นคืออาจนำไปสู่การกลับใจทั้งส่วนตัวและส่วนรวม และหันกลับไปหาพระเจ้า พันธสัญญาเดิมบอกไว้หลายแห่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ สงคราม ทุพภิกขภัย และภัยพิบัติอื่นๆ ทำให้ชาวยิวตระหนักว่าพวกเขากระทำผิดด้วยการละทิ้งพระเจ้า การตระหนักได้เช่นนี้ ทำให้พวกเขาสำนึกผิดและกลับใจ
    3. ผลบวกอีกอย่างหนึ่งของความทุกข์ทรมาน คือ อาจเป็นตัวช่วยให้รู้จักชดเชยความผิดและการชดใช้ความผิด พระคริสตเจ้าเองได้ทรงแสดงแบบอย่างนี้ให้กับเรา พระองค์ทรงยอมทนทุกข์ทรมานเพื่อบาปของมนุษย์เพื่อให้พวกเขาได้รับความรอดนิรันดร ในการเจริญรอยตามแบบอย่างของพระองค์นั้น เราเองก็ต้องยอมรับความทุกข์ทรมาน เพื่อเป็นการชดเชยบาปของเราและของผู้อื่น
    4. นอกจากการชดเชยความผิดแล้ว ยังมีการถวายความทุกข์ทรมานเป็นบูชาขอบคุณพระเจ้า และถวายเกียรติแด่พระองค์ พระคริสตเจ้าได้ทรงถวายความทุกข์ทรมาน และความตายของพระองค์เป็นเครื่องถวายบูชา ซึ่งเป็นการถวายบูชาที่เรารื้อฟื้นบนพระแท่น เป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้าอย่างสูงสุด ดังนั้น ความทุกข์ทรมานต่างๆ ของเราจึงกลายเป็นวิธีการถวายเกียรติแด่พระเจ้า
    5. ความทุกข์ทรมานยังเป็นเครื่องมือช่วยให้เราชำระตัวเองให้บริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ ดังเช่นการใช้ไฟพิสูจน์ทองคำ เราเองก็ถูกท้าทายจากความทุกข์ทรมาน ดังนั้นความทุกข์ทรมานจึงเป็นการพิสูจน์ถึงความซื่อสัตย์ของเราต่อพระเจ้า
    6. ความทุกข์ทรมานยังเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความรักแท้ เราเห็นความรักของพระเจ้าต่อเราได้ในทางนี้ พระองค์ทรงประทานพระบุตรเป็นเครื่องถวายบูชาเพื่อเราทั้งหลาย “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมากจึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศแต่จะมีชีวิตนิรันดร” (ยน 3:16) เป็นการกระทำอันยิ่งใหญ่แห่งความรักเมตตาที่ยอมทรมานเพื่อผู้อื่น และความรักเมตตานี้ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นความกล้าหาญเมื่อผู้หนึ่งยอมสละชีวิตของตนเพื่อผู้อื่น “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าสละชีวิตตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13)
    7. ผลดีอีกอย่างหนึ่งของความทุกข์ทรมาน คือ การช่วยบรรเทาทุกข์ผู้อื่น นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ ทุ่มเทชีวิตให้กับงานอันทรงเกียรติเช่นนี้ เป็นการรับใช้มนุษยชาติอย่างสูงส่ง       เมื่อเรามองมิติของความทุกข์ทรมานแบบ
คริสตชน คือ การช่วยบรรเทาทุกข์ผู้อื่น นั่น คือ การแสดงเมตตาจิตแบบคริสตชนที่ลงเอยในพระเจ้า “เมื่อเราหิว ท่านให้เรากิน เรากระหาย ท่านให้เราดื่ม...ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:35, 40)
    ดังนั้นถึงแม้ว่ามนุษย์จะสูญเสียอภิสิทธิ์ของการเป็นอิสระจากความทุกข์ทรมาน และเวลานี้ได้รับผลกระทบของมันอยู่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ในปัจจุบัน ความทุกข์ทรมานนั้นไม่จำเป็นต้องให้ผลร้าย เนื่องจากเราสามารถปรับให้กลายเป็นผลดีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวเนื่องกับความสุขนิรันดรของเรา