แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อย่าฆ่าคน

    พระบัญญัติประการนี้ถือเป็นพระบัญญัติที่มีข้อความสั้นที่สุด แต่ในความหมายของพระบัญญัตินั้น กินความเกินกว่าตัวอักษรมากมายนัก กล่าวคือ มิใช่ห้ามเพียงแค่ “การทำให้ตาย” หากแต่ยังรวมถึงเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ซึ่งจะอธิบายเพื่อความเข้าใจดังต่อไปนี้
    การฆ่าคน    หมายถึง การทำให้ผู้อื่นตาย ไม่ว่าด้วยการกระทำใดๆ ทั้งสิ้น ความหนักเบาย่อมขึ้นอยู่กับเจตนาเหมือนกับกฎหมายบ้านเมือง เช่น ถ้าหากจงใจตั้งใจที่จะฆ่าผู้อื่นอย่างชัดแจ้ง อย่างนี้ถือว่าหนักที่สุด    ที่เห็นกันบ่อยๆ คือ การ “ทำแท้ง” ซึ่งถือเป็นบาปหนัก เป็นบาปที่สงวนไว้สำหรับพระสังฆราชเป็นผู้โปรดบาปได้เท่านั้น    แต่พระสังฆราชสามารถมอบอำนาจให้พระสงฆ์โปรดในนามของท่านก็ได้    ดังนั้น ในกรณีมีผู้มาขอแก้บาปเรื่อง “ทำแท้ง” พระสงฆ์จะต้องขออำนาจจากพระสังฆราชเสียก่อน จะโปรดบาปให้ทันทีไม่ได้
    ส่วนบาปเรื่อง การฆ่าคน นั้นพระสงฆ์สามารถยกบาปได้ทันที    สาเหตุที่บาปทำแท้งเป็นบาปสงวนสำหรับพระสังฆราชก็เพราะ 2 เหตุผลใหญ่ คือ เด็กที่อยู่ในครรภ์ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์มิได้รู้เรื่องอะไรด้วย    และมิได้อยู่ในสถานะที่จะป้องกันตนเองได้เลย    อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การทำแท้งนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวซึ่งยากจะถูกลงโทษโดยทางกฎหมายบ้านเมือง... มิหนำซ้ำบางประเทศยังถือว่าไม่ผิดกฎหมายเสียอีก
    การทำร้ายร่างกาย    หมายถึง การทำให้บาดเจ็บ พิการ ไม่ว่าน้อยหรือมาก แต่ไม่ถึงแก่เสียชีวิต
    การทำร้ายชีวิตวิญญาณ    หมายถึง    การเป็นที่สะดุดแก่ผู้อื่น เป็นต้น แก่เด็กๆ ไม่ว่าจะด้วยพฤติกรรมใดๆ ก็ตาม เช่น การกระทำ คำพูด การเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี และจะหนักขึ้นไปอีก ถ้าหมาเป็นการชักจูงส่งเสริมให้ผู้อื่นกระทำผิดโดยตรง เรื่องนี้มีพูดไว้ชัดเจนในพระคัมภีร์ “ผู้ใดเป็นเหตุให้คนธรรมดาๆ ที่มีความเชื่อในเราทำบาป ถ้าเขาจะถูกแขวนคอด้วยหินโม่ ถ่วงลงใต้ทะเล ก็ยังดีกว่าสำหรับเขา” (มธ 18 : 6)
    พระบัญญัติประการนี้ยังห้าม การโกรธโมโหฉุนเฉียว การด่าแช่ง การใช้คำพูดหยาบคาย การทะเลาะวิวาท การเบียดเบียน รวมทั้งการเกลียดชังผู้พยาบาท อาฆาต มาดร้าย ต่อกันอีกด้วย   เพราะพฤติกรรมเหล่านี้มันบ่งบอกถึงจิตใจที่ขาดความรัก ขาดความเมตตา
    พระบัญญัติประการที่ห้านี้ จึงหมายถึงการสั่งให้เรารักกันและกัน ทำดีต่อกัน เป็นแบบอย่างที่ดี รู้จักอภัยและช่วยเหลือส่งเสริมกัน ในการประกอบคุณงามความดีต่างๆ นั่นเอง
    มีประเด็นคำถามตามมาอีกหลายคำถามในพระบัญญัตินี้ เช่น
    1. มีการฆ่าหรือทำร้ายผู้อื่นที่ไม่ผิดหรือไม่?    คำตอบ คือ มี กรณีของการที่จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของตนตามความรับผิดชอบ เช่น เป็นทหารเมื่อออกรบอยู่ในสงคราม มีหน้าที่ป้องกันบ้านเมือง การทำร้ายหรือทำลายศัตรูถือเป็นหน้าที่ตามความรับผิดชอบ อย่างนี้ถือว่าไม่ผิดหรือบาป แต่ต้องระวังว่าถ้าหากมีเจตนาจะแกล้งหรือทรมานเชลยศึกโดยไม่มีเหตุผลหรือกระทำเพราะความแค้น...อย่างนี้ถือเป็นบาปและความผิดอย่างแน่นอน
    2. ส่วนการทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ พิการหรือตายโดยไม่เจตนา    ถือว่ามีความผิดอยู่เหมือนกัน เช่น ขับรถชนคนตายโดยไม่เจตนา ถือเป็นอุบัติเหตุ เป็นการกระทำผิดโดยประมาท    ความผิดนั้นจึงขึ้นอยู่กับเจตนา เช่นเดียวกับกฎหมายบ้านเมือง แต่ที่สำคัญ คือ ต้องรับผิดชอบชดเชยความผิดนั้นๆ อย่างเต็มที่ตามความยุติธรรม และต้องมากกว่าความยุติธรรมด้วย คือ ต้องพิจารณาถึงความรักด้วย มิใช่พยายามชดเชยหรือชดใช้ความเสียหายนั้นให้น้อยที่สุด อย่างนี้ย่อมบาปแน่ๆ    แม้จะถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมืองก็ตาม    ในกรณีนี้รวมถึงการป้องกันตนเองเกินกว่าเหตุก็ถือเป็นความผิดบาปด้วย เช่น มีคนพิการเดินเข้ามาจะทำร้ายเราโดยปราศจากอาวุธใดๆ เรากลับยิงเขาตายด้วยปืนหรือแทงเขาตายด้วยมีด อย่างนี้ถือว่าเกินไป... แต่ถ้าหากเขาเป็นผู้ที่อยู่ในวิสัยที่จะทำร้ายหรือฆ่าเราได้ เราย่อมมีสิทธิ์ในการป้องกันตัวรักษาชีวิตของเราได้เสมอ
    3. ฆ่าสัตว์เป็นบาปหรือไม่?    เรามักได้ยินคำถามนี้เสมอ เป็นต้น ในประเทศไทยที่คนกว่าเก้าสิบเปอร์เซนต์ที่นับถือพุทธศาสนาถือว่าการฆ่าสัตว์เป็นบาป...    ในเรื่องนี้ สำหรับเราที่เป็นคริสตชน ถือว่า การฆ่าสัตว์ไม่บาป เพราะเราเชื่อว่าสรรพสิ่งสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ พระเป็นเจ้าทรงสร้างมาเพื่อมนุษย์    มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะนำสิ่งต่างๆ มาเพื่อตนเองได้ เช่น สามารถนำสัตว์มาเป็นอาหารได้    ดังนั้น จึงฆ่าสัตว์ และนำมาเป็นอาหารได้เสมอ เช่น ฆ่าหมู ไก่ เป็ด ปลา ฯลฯ มาทำเป็นอาหมารับประทานได้ หรือ ฆ่าสัตว์ที่มันทำร้ายเราได้ เช่น ฆ่างูมีพิษ ฆ่ายุง ฯลฯ
    อย่างไรก็ดีต้องระวังว่า “การทรมานสัตว์เพื่อความสนุกสนาน” ถือเป็นบาปและความผิด เพราะแสดงถึงความมีจิตใจโหดร้ายนั่นเอง    ดังนั้น การจับสัตว์มาตีกัน ทำร้ายกันจึงบาป เช่น นำไก่มาชนกัน นำวัวควายมาชนกัน นำปลามากัดกัน...
    มีคำถามต่อไปว่า การนำสัตว์มาเลี้ยงไว้ในกรงหรือนำมาเลี้ยงในตู้ปลาผิดหรือไม่?... ในประเด็นนี้ต้องระวังดีๆ ถ้านำมาเลี้ยงก็ต้องดูแลอย่างดี ให้มีอาหารกิน มีที่อยู่ที่เหมาะสม มิฉะนั้นก็น่าจะผิดด้วย    แต่ถ้าหากมีอยู่แล้วก็พยายามดูแลดีๆ เพราะถ้าปล่อยไปสัตว์เหล่านั้นจะตายได้เพราะไม่เคยชินกับสภาพแวดล้อม... เช่น ปล่อยปลาที่เลี้ยงไว้ในตู้ปลาลงในแหล่งธรรมชาติ หรือ ปล่อยนกในกรงที่เลี้ยงไว้นานแล้วไปมันต้องตายแน่ๆ เพราะมันจะปรับตัวเองไม่ได้ เราต้องถือว่าถ้าไม่สามารถจะกระทำในสิ่งที่ถูกได้ ก็ขอให้เลือกกระทำความผิดน้อยที่สุดแล้วกัน

ที่มา : หนังสือ หลักธรรมคำสอนคาทอลิก (คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม)